สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.เชียงใหม่ (34 มม.) จ.ตาก (34 มม.) และ จ.เพชรบูรณ์ (22 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 30,377 ล้าน ลบ.ม. (52%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 23,965 ล้าน ลบ.ม. (50%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน ได้เตรียมรับฤดูน้ำหลากปี 66 ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และสุโขทัย ด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีหรือโครงการบางระกำโมเดล ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 7 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้จัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำจัดสรร 310 ล้าน ลบ.ม. ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเป็นไปตามแผนที่กำหนด ทำให้ไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำหลากแต่อย่างใด สำหรับในปีนี้ เริ่มทยอยปล่อยน้ำเข้าระบบส่งน้ำตั้งแต่วันที่15 มี.ค. 66 ซึ่งจะมีพิธีปล่อยน้ำอย่างเป็นทางการ
ในวันที่ 17 มี.ค. 66พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระนองรับฟังปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 66 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ระนอง ในการนี้ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมลงพื้นที่และร่วมให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย
นายกรัฐมนตรีได้รับฟังสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคของประชาชนในพื้นที่ ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง โดยสภาพปัญหาคือแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 25 ปี ทำให้ท่อส่งน้ำมีสภาพเสื่อมโทรม และชำรุดเสียหาย ซึ่งแหล่งกักเก็บน้ำหลักในพื้นที่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายคลองกำพวน และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ฝายบ้านโตนกลอย และเนื่องจากทั้ง 2 โครงการถ่ายโอนภารกิจแล้ว โครงการชลประทานระนองจึงไม่สามารถขอรับสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซมได้ ส่งผลให้ราษฎรขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในช่วงที่เกิดการชำรุดเสียหายของท่อส่งน้ำ
ทั้งนี้ ทต.กำพวน ได้ซ่อมแซมและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยกรมชลประทาน พิจารณาโครงการเบื้องต้น เป็นโครงการฝายคลองโตนกลอยพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหา วงเงินงบประมาณ 40.60 ล้านบาท คาดว่าจะจัดเข้าแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และนายกรัฐมนตรีได้กำชับเจ้าหน้าที่และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันในการเร่งช่วยเหลือดูแล แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค-บริโภค ให้เป็นผลสำเร็จภายในปีนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีน้ำอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 18 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองทัพบกจัดกำลังพลจิตอาสาพร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำ ลงพื้นที่จ่ายน้ำ ณ บ้านศรีสองรัก ต.ศรีสองรัก อ.เมือง จ.เลย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
2. สภาพอากาศ
ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 30,377 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,968 ล้าน ลบ.ม. (50%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,273 ล้าน ลบ.ม. (65%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,136 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 9,001 ล้าน ลบ.ม. (50%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 23,853 ล้าน ลบ.ม. (50%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 14,464 ล้าน ลบ.ม. (66%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,028 ล้าน ลบ.ม. (70%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กองทัพอากาศจัดพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติภารกิจฝนหลวงของกองทัพอากาศ ประจำปี 2566 ณ โรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 โดยกองทัพอากาศได้จัดอากาศยาน จำนวน 8 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวง จำนวน 4 โครงการ คือ 1. โครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ 2. โครงการผลิตพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น 3. โครงการภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่นด้วยเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground Base Generator) 4. โครงการวิจัยร่วมการผลิตพลุจากวัสดุธรรมชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่ของฐานบินในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี กองบิน 3 จังหวัดสระแก้ว กองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก กองบิน 56 จังหวัดสงขลา และสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุร