หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งออกไทยเดือน ม.ค.66 หดตัว -4.5%
การส่งออกไทยเดือนม.ค. 2566 ยังคงหดตัวต่อเนื่องแต่มีระดับที่ลดลงที่ -4.5%(YoY) โดยยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนยังหดตัวที่ -11.4% (YoY)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกไทยในระยะข้างหน้ายังคงจะได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่อง แต่การชะลอตัวดังกล่าวอาจไม่รุนแรงเท่ากับที่เคยได้มีการคาดการณ์ โดยมีแรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนที่แม้ชะลอตัวแต่ยังคงแสดงความแข็งแกร่ง ซึ่งคงส่งผลบวกต่อไปยังภาคการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมองว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะติดลบเล็กน้อยที่ -0.5%
การชะลอตัวลงของเศรฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ได้ส่งแรงกดดันต่อเนื่องมายังต้นปี2566 โดยเดือนมกราคม 2566 การส่งออกไทยหดตัวที่ -4.5 (YoY) หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้แก่ การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นยูโรโซนยังคงหดตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีนที่หดตัว -11.4%(YoY) โดยการส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติกไปยังจีนยังหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ที่ลดลง ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2566 อาจยังไม่เห็นภาพอานิสงส์จากการเปิดประเทศจีนอย่างชัดเจน แต่ในระยะต่อไปคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวดีกว่าคาดที่ระดับ 52.6
สำหรับความขัดแย้งระหว่างรัสซียและยูเครน ซึ่งได้ครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวเนื่องจากรัสเซียหนึ่งประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญของโลก เมื่อเกิดภาวะสงครามจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกไทยในปีที่ผ่านมาก็ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูง โดยมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าแร่และเชื้อเพลิงของไทยมีทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยขณะนี้มีทิศทางที่ชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบที่ย่อตัวลง
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบจะถูกกดดันให้กลับมาเร่งตัวขึ้นจากอุปทานที่อาจตึงตัวเพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก เช่น การระงับการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย การกำหนดเพดานราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวของรัสเซียลดลง และนโยบายการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ประกอบกับความไม่แน่นอนจากฝั่งอุปสงค์ของจีน อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีมุมมองว่าราคาน้ำมันดิบคงจะไม่พุ่งกลับไปแตะระดับเกินกว่า 120 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลดังเช่นในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 หลังการเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนขึ้น และโดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดิบในปีนี้คาดว่าจะลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปทานน้ำมันที่มีมากขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมุมมองการส่งออกไทยในปีนี้ การส่งออกไทยในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มที่จะโดนกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจไม่ชะลอตัวลงแรงอย่างที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศของจีนที่คงส่งผลให้เศรษฐกิจกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนแม้ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงแต่ตัวเลขหลายตัวที่ออกมาล่าสุดยังคงสะท้อนภาพค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนจะหดตัวในปีนี้นั้นมีลดลง ซึ่งคงส่งผลบวกต่อไปยังภาคการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมองว่าการส่งออกไทยในปี 2566 จะติดลบเล็กน้อยที่ -0.5%