ธ.ก.ส. หนุนธุรกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ภาคชนบท

ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 ตามนโยบายรัฐบาล หนุนผู้ประกอบการเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน อัดฉีดวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปีใน 3 ปีแรก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี สามารถติดต่อขอรับสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2568

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 เพื่อสนับสนุนหัวขบวนให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจตามโมเดล BCG ภายใต้หลัก SDGs และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อันนำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรในชุมชน การสนับสนุนการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรมาปรับใช้และพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อันนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท

สำหรับเงื่อนไขผู้ขอใช้สินเชื่อ ต้องเป็นเกษตรกร บุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ที่เป็นหัวขบวนธุรกิจชุมชน ที่มีความพร้อมดำเนินธุรกิจในลักษณะตลาดนำการผลิต มีการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน มีการจัดสรรประโยชน์ให้แก่สมาชิกและชุมชน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิตให้แก่เกษตรกรในชุมชน เช่น การรวบรวมหรือรับซื้อผลผลิตที่ให้ราคาสูงกว่าตลาด การจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชน และการสนับสนุนสินเชื่อตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model ในกรณีขอสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ต้องเข้าร่วมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนเพื่อให้มีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมการผลิตภาคการเกษตร และมีการจัดทำประกันภัยหรือผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันความเสี่ยงในการผลิต วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี และรัฐบาลจ่ายชดเชยดอกเบี้ยแทน 3.50% ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรกนับแต่วันกู้ และปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ยตามประเภทลูกค้า ได้แก่ MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.625%) หรือ MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 5.125%) โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ตามที่มาแห่งรายได้ สูงสุดไม่เกิน 15 ปี พิเศษ ไม่เกิน 20 ปี

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ได้สนับสนุนชุมชนในการขับเคลื่อนธุรกิจไปแล้วจำนวน 6,294 ราย วงเงินสินเชื่อ 27,670.69 ล้านบาท สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2568