คลังยันจัดงานแก้หนี้ประสบความสำเร็จ ลั่นสั่งแบงก์รัฐทำโครงการตลอดปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (วันที่ 7 ก.พ. 2566) คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก และถือว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ
ตามที่กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” (งานมหกรรมฯ) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขและการปรับโครงสร้างหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึง สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมและการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ ผลของการจัดงานมหกรรมฯ ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง (นายชื่นชอบ คงอุดม) ได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้
1. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบสัญจร จำนวน 5 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุด 13,000 รายการ รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 10,000 รายการคิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7,000 รายการ
2. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้นมากกว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 413,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่น ๆ 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 75% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5 สินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ 10%
ถึงแม้ว่าการจัดงานมหกรรมฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้
1. มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง
2. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ 2. หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ
3. คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนก.พ. 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน (Responsible Borrowing) เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จะจบลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการหมอหนี้ เพื่อประชาชน หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตลอดเวลา”