สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 ก.พ. 66
ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครราชสีมา (67มม.) จ.ชลบุรี (60 มม.) และ จ.ขอนแก่น (50 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 36,806 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 29,557 ล้าน ลบ.ม. (62%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน นำเครื่องจักรกลสูบน้ำเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ไปติดตั้ง ต่อท่อ ดูด- ส่งน้ำ ช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้ง บ้านสว่างนาฝาย หมู่ 9 ตำบลพระเหลา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
กรมเจ้าท่า ดำเนินงานขุดลอกแม่น้ำวัง ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการขุดลอก เพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค บริโภค และการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 950 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 2,650 ไร่
กอนช.ติดตามการดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังชัน แก้ภัยแล้ง น้ำท่วม ซ้ำซาก ปราจีนบุรี
กรมชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีเนื่องจากช่วงฤดูแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำเค็มจากน้ำทะเลหนุนเป็นอย่างมาก และในช่วงฤดูฝนประสบปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้เกิด โครงการประตูระบายน้ำบ้านวังชัน เพื่อจะช่วยควบคุมการไหลในแม่น้ำปราจีนบุรีที่ไหลผ่าน
อำเมืองปราจีนบุรี และอำเภอบ้านสร้าง ให้เหมาะสมสำหรับในช่วงฤดูแล้งเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเริ่มลดลง ก็สามารถลดบานประตูระบายน้ำลงเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้โดยมีการระบายน้ำออกตามความเหมาะสมเพื่อการใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม
โครงการดังกล่าวได้ผ่านการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดการศึกษาโครงการที่ผ่านมา กรมชลประทานได้กำหนดให้มีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 ก.พ. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ติดตามการใช้งานและซ่อมบำรุงระบบประปาบาดาล ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปากห้วยม่วง ตำบลนาเข อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และโรงเรียนบ้านศูนย์กลาง ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 36,806 ล้าน ลบ.ม. (63%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 29,557 ล้าน ลบ.ม. (62%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,104 ล้าน ลบ.ม. (81%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,144 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 11,299 ล้าน ลบ.ม. (62%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 29,358 ล้าน ลบ.ม. (62%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,804 ล้าน ลบ.ม. (40%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,621 ล้าน ลบ.ม. (42%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเปิดเวทีการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ 8 จังหวัด ริมน้ำโขง ประจำปี 2565 ณ จังหวัดนครพนม เพื่อเปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดนครพนม และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานประมงจังหวัดนครพนม องค์การบริหารส่วนตำบลพนอม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเสนอต้นแบบการสร้างแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์พืชน้ำ เพื่อร่วมกันปกป้อง ฟื้นฟู ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่เป็นห่วงโซ่อาหารในแม่น้ำโขง เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเครือข่ายในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง