ส่งออกเดือน ธ.ค. หดตัวแรง ฉุดทั้งปีขยายตัว 5.5%
ส่งออกเดือน ธ.ค. ติดลบ 14.6%YoY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -11.5% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ และผลของฐานเดือน ธ.ค. ในปี 2564 ที่สูง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว สำหรับการส่งออกปี 2565 ขยายตัวที่ 5.5%
การส่งออกที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลของการส่งออกเชิงปริมาณที่หดตัวเป็นสำคัญ ขณะที่ด้านราคาส่งออก คาดว่าอัตราการขยายตัวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอลง ทั้งนี้ KrungthaiCOMPASS ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 0.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนซึ่งคาดว่าอุปสงค์จากประเทศจีนจะทยอยฟื้นตัวได้ และแนวโน้มปัญหา supply chain disruption คลี่คลายมากขึ้น
มูลค่าส่งออกปี 2565 ขยายตัว 5.5%
มูลค่าส่งออกเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 21,719 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 14.6%YoY จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.0%YoY โดยการส่งออกสินค้าทุกหมวดหดตัว ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ และผลของฐานเดือน ธ.ค. ในปี 2564 ที่สูง สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัวต่อเนื่องที่ -80.5% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้หดตัว 13.9%YoY ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปี 2565 ขยายตัวที่ 5.5%
ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัวต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -15.7%YoY หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว 5.1%YoY จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (-17.1%) และอัญมณีและเครื่องประดับ (-12.4%) ที่กลับมาหดตัว สินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน (-25.7%) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (-24.3%) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ดี สินค้าบางชนิดยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+65.6%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+83.7%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+8.1%) เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ปี 2565 ขยายตัว 4.4%
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -11.2%YoY หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 2.0%YoY โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-12.4%) และน้ำตาลทราย (-45.4%) กลับมาหดตัว ขณะที่การส่งออกข้าว (-4.1%) ยางพารา (-47.7%) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-20.5%) หดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินค้าบางชนิดยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง (+21.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+1.5%) และไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง (+22.8%) เป็นต้น สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ปี 2565 ขยายตัว 8.8%
ด้านการส่งออกรายตลาดส่วนใหญ่หดตัว
สหรัฐฯ : กลับมาหดตัวที่ -3.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสารและโทรศัพท์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เป็นต้น (ส่งออกปี 2565 ขยายตัว 13.4%)
จีน : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ -20.8%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด/แช่เย็น/แช่แข็ง/แห้ง และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น (ส่งออกปี 2565 หดตัว -7.7%)
ญี่ปุ่น : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -13.7%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และเครื่องโทรสารและโทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกปี 2565 หดตัว -1.3%)
EU27 : กลับมาหดตัวที่ -4.9%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น (ส่งออกปี 2565 ขยายตัว 5.2%)
ASEAN5 : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -24.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันดิบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (ส่งออกปี 2565 ขยายตัว 9.5%)
มูลค่าการนำเข้าเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 22,753 ล้านดอลลาร์ฯ กลับมาหดตัว 12.0%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.6%YoY จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงกลับมาหดตัว (-13.2%YoY) ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-17.1%YoY) สินค้าทุน (-8.6%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-7.5%YoY) หดตัวต่อเนื่อง การนำเข้าปี 2565 ขยายตัว 13.6% ด้านดุลการค้าเดือน ธ.ค. ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ระดับ -1,034 ล้านดอลลาร์ฯ โดยดุลการค้าปี 2565 ขาดดุล -16,123 ล้านดอลลาร์ฯ
Implication:
การส่งออกที่หดตัวในระยะหลังเป็นผลของการส่งออกเชิงปริมาณที่หดตัวเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาหดตัวตั้งแต่เดือน ต.ค. 65 เนื่องจากการส่งออกเชิงปริมาณที่หดตัวในเดือน ต.ค. (-6.5%YoY) และเดือน พ.ย. (-8.2%YoY) จากอุปสงค์ของประเทศตลาดหลักที่ชะลอลง เช่น สหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด และจีนจากการดำเนินมาตรการ zero-covid เป็นต้น และในระยะข้างหน้าปริมาณการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ด้านราคาส่งออก แม้ว่ายังขยายตัวได้จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อส่งผลให้ระดับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอลง
Krungthai COMPASS ประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 0.7% คาดการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีนจะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและการส่งออกในระยะข้างหน้าให้เติบโตได้ หลังจากทางการจีนผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในเดือนมกราคม 2566 ส่งผลให้แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศของจีนจะทยอยฟื้นตัว และภาคการผลิตของจีนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะช่วยให้แนวโน้มปัญหา supply chain disruption คลี่คลายมากขึ้น ซึ่งคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน