สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ม.ค. 66
ภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา (55 มม.) จ.ปัตตานี (48 มม.) และ จ.นราธิวาส (41 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,406 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,738 ล้าน ลบ.ม. (68%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้
1. จ.ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ยะหา และสะเตงนอก รวม 3 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 158 ครัวเรือน
2. จ.ปัตตานี น้ำท่วมใน อ.โคกโพธิ์ รวม 12 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,027 ครัวเรือน และได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
กอนช. ติดตามการดำเนินการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้
ตามประกาศ กอนช. ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน
น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้
คาดการณ์แนวโน้มความเสี่ยง วันที่ 9 – 11 ม.ค. 66 ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังปกคลุมประเทศไทยส่งผลให้มีฝนตกหนักภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ตอนล่าง 12 – 15 ม.ค. 66 แนวโน้มมีฝนลดลง การคาดการณ์คลื่น 9 – 11 ม.ค. 66 มีความสูง 1.5 – 2 ม. ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน การคาดการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่ปากแม่น้ำปัตตานี จะหนุนสูงวันที่ 11 ม.ค. 66 และ 24 ม.ค. 66
กรมชลประทาน ดำเนินการลดบานประตูที่เขื่อนปัตตานีและบ้านปรีกี เพื่อผลักน้ำออกทางคลองตุยง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่บ้านบริดอ
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือในบริเวณ จ.ชุมพร และนราธิวาส ซึ่งมีการก่อสร้างสะพานเบลีย์ใน จ.นราธิวาส คาดว่าจะแล้วเสร็จ
ในวันที่ 11 ม.ค. 66 และในช่วงที่ผ่านมาไม่มีพื้นที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม และสนับสนุนเครื่องจักรกล เพื่อใช้ช่วยเหลือบริเวณ จ.สงขลา นราธิวาส และปัตตานี กรมประชาสัมพันธ์ ได้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำภาคใต้ให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่ลุ่มต่ำให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง ประชาสัมพันธ์เขื่อนบางลางหยุดการระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และตรวจสอบ กำกับ ดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาลในอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชรให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการกำกับ ดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาล
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนล่างและมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 40,406 ล้าน ลบ.ม. (70%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 32,738 ล้าน ลบ.ม. (68%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,517 ล้าน ลบ.ม. (89%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,151 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 12,773 ล้าน ลบ.ม. (70%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 32,465 ล้าน ลบ.ม. (69%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 5,398 ล้าน ลบ.ม. (25%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,011 ล้าน ลบ.ม. (23%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ สู่สังคมเท่าทันภัยด้วยแผนปภ. ชาติ” ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยในบริบทของหน่วยงานภาคีเครือข่าย” เพื่อแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น ประสบการณ์ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติและมุมมองใหม่ด้านการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย รวมถึงสร้างเครือข่ายในการเชื่อมโยงภารกิจงานของทุกภาคส่วน และเป็นการผนึกกำลังในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ