สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 ธ.ค. 65
ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยะลา (84 มม.) จ.นราธิวาส (62 มม.) และ จ.สงขลา (51 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,606 ล้าน ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,698 ล้าน ลบ.ม. (73%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง พร้อมเร่งเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ อาทิ สวน 72 พรรษาเฉลิมพระเกียรติ ต.บ่อยาง กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 9 ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา บ้านทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 3 ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา บริเวณถนนสายหน้าสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ประมาณ 700 ครัวเรือน
ปตร.คลองท่าแนะ เนื่องจากระดับน้ำหน้า ปตร.มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปรับการระบายน้ำจากเดิม 1.00 ม. เพิ่มเป็น 1.50 ม. ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ ตำบลชะมวง ตำบลควนขนุน ตำบลโตนดด้วน ตำบลพนมวังก์ ตำบลดอนทราย ตำบลปันแต ตำบลพนางตุง ตำบลมะกอกเหนือ ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
สทนช.จัดเวทีถกความร่วมมือการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด สมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี
วานนี้ (20 ธ.ค.65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี ในโครงการศึกษาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อลุ่มน้ำแม่กลอง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ราชบุรี และเพชรบุรี เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
โดยมีนายสมนึก พรหมเขียว ผวจ.สมุทรสงคราม ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี– ประจวบคีรีขันธ์ ผู้บริหาร นายอําเภอ บ้าน วัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จํานวน 160 คน โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง (SCGP) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม กรมวิทยาศาสตร์บริการ บริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาพื้นที่รอยต่อ และมีการเสวนาเครือข่ายแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ และการมอบน้ำหมักชีวภาพเพื่อเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาในลักษณะ “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) สนับสนุนโดยนายกสมาคม ผู้นําอาสาพัฒนาชุมชนประเทศไทย ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้รับความเมตตาจาก พระภาวนาวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ความอนุเคราะห์การจัดกิจกรรมและให้โอวาทธรรมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่อีกด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 ธ.ค. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ณ บ้านโนนยาง หมู่ที่ 10 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ 60 ไร่ ณ บ้านนาตงใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 42,606 ล้าน ลบ.ม. (74%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 34,698 ล้าน ลบ.ม. (73%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,754 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,155 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,719 ล้าน ลบ.ม. (75%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 34,374 ล้าน ลบ.ม. (73%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,259 ล้าน ลบ.ม. (15%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,047 ล้าน ลบ.ม. (12%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในพื้นที่รอยต่อ ระดับชุมชนตามหลัก บ้าน วัด โรงเรียน และรณรงค์ปลูกจิตสํานึก และการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับพื้นที่สู่ระดับลุ่มน้ำ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง