“อาคม” ชี้เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ
ขุนคลังยันอัตราเงินเฟ้อลดลง หลังผ่านพ้นจุดต่ำสุดมั่นปีหน้า สูงสุดไม่เกิน 6% ส่งผลให้ไทยสามารถดำเนินนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติได้ และมีแนวโน้มที่จะจัดทำงบประมาณแบบสมดุล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวเปิดงาน “Thailand Economic Montior Distributional Impact of Fiscal Spending and Revenue” ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง อาจจะต้องมาวิเคราะห์มาตรการต่างๆ ที่ถือเป็นรายจ่ายที่รัฐบาลได้จ่ายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยนโยบายการคลังอาจไม่สามารถใช้แบบกระจายได้เหมือนเดิม ต้องปรับมาเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
หลังจากนี้ จะมีปัจจัยท้าทายสำหรับนโยบายการคลัง คือการช่วยรักษาและลดแรงกดดันด้านราคาสินค้า จากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลจะต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 5.5% ทำให้เชื่อว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยได้ผ่านจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ จะทยอยลดลงจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ และหวังว่าภายในสิ้นปี 65 อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ไม่เกิน 6% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ ไม่ได้สูงเหมือกับหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียว กันต้องดูเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
“การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ผ่านนโยบายการคลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 อาจจะไม่เหมาะที่จะใช้ดำเนินการในปีต่อๆ ไปในระยะข้างหน้า เพราะเมื่อไทยมีการเปิดประเทศ ภาพรวมการท่องเที่ยวดีขึ้น รายได้ต่างๆ ดีขึ้น ก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายแบบปกติ โดยเฉพาะการเดินหน้าเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุล หลังจากที่ไทยขาดดุลงบประมาณมานาน จนส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะในระยะยาว”
นายอาคม กล่าวการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนและทั่วหน้านั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายในการทำโครงการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมและการพัฒนาอย่างทั่วหน้า โดยรัฐบาลได้มีการปรับปรุงใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านนวัตกรรมและดิจิทัล ผ่านการดำเนินมาตรการทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี 2. การพัฒนาทักษะแรงงาน และ 3. การสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม