กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.25% คาดปีหน้า กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงส่งสำคัญ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ใกล้เคียงเดิม ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 อาจสูงกว่าประมาณการเดิมจากการปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ
KrungthaiCOMPASS คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.0 แตะระดับขอบบนของกรอบเป้าหมาย โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมาย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ กนง. อาจพิจารณาทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขึ้นไปแตะระดับ 2.00% ในปี 2566
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งที่ 6/2565 (ครั้งสุดท้ายของปี) ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 (รวมทั้งสิ้น 75 bps ในปีนี้) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงส่งสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนซึ่งปรับดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงานที่สูงขึ้นและกระจายทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกให้ขยายตัวชะลอลง แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 และ ปี 2566 เป็นร้อยละ 3.2 (จากร้อยละ 3.3) และ ร้อยละ 3.7 (จากร้อยละ 3.8) ตามลำดับ ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการเดิม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 2566 และ 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 3.0 และ 2.1 ตามลำดับ ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 คาดว่าสูงกว่าประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2.6 จากการปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยลดลงต่อเนื่องโดยในปี 2565 2566 และ 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 2.5 และ 2.0 ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ ดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญทั้งนี้ กนง. ประเมินว่ายังต้องติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 เป็นร้อยละ 3.0 (จากเดิมร้อยละ 2.6) แตะระดับขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% จากแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะปรับลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 Krungthai COMPASS ประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าวจะหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ต่อไป โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจขึ้นไปแตะระดับ 2.00% ในปี 2566 ทั้งนี้ กนง. อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่า “การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ”
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผ่านการส่งออกเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง บ่งชี้จากการปรับเพิ่มประมาณการของ กนง. ในปี 2566 ที่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.4 (จากเดิมร้อยละ 3.3) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน (จากเดิม 21 ล้านคน) สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะระดับ 21.4 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากกว่าที่คาด