สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 65
ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครนายก (56 มม.) กรุงเทพมหานคร (54 มม.) และ จ.ชลบุรี (53 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,677 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,740 ล้าน ลบ.ม. (75%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศฉบับที่ 55/2565 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 2 – 6 ธ.ค. 65 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ระนอง ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและ ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ให้การสนับสนุนอุปกรณ์และท่อส่งน้ำ ขนาด 10 นิ้ว สูบระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่หมู่บ้านหนองหลวง หมู่ที่ 1 ต.บึงเสนาท อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนน้ำท่วมขังให้กับประชาชน และลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำดิบ เพื่อเตรียมการสูบส่งน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 13 ต.บุ่งคล้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 พ.ย. 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทางทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดปฏิบัติงานช่าง ปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการประจำปี งานขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภค –บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ณ บ้านเชียงอาดเหนือ หมู่13 ตำบลเหล่าต่างคำ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมตะวันออกพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนลดลง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,677 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,740 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,780 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,173 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,366 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,695 ล้าน ลบ.ม. (8%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 428 ล้าน ลบ.ม. (5%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ และภาคเอกชน ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการน้ำประปา เปิดโครงการ “รวมพลังประปาฮีโร่” ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเป้าหมายสำคัญของการผนึกความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของ อปท. ในการดูแลระบบประปาหมู่บ้าน เพิ่มระบบกรองน้ำดื่มให้กับระบบประปาหมู่บ้าน และฝึกอบรมให้บุคลากรของ อปท. สามารถซ่อมบำรุงระบบประปาที่ชำรุดให้สามารถผลิตน้ำประปาที่สะอาดและมีคุณภาพ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพประปาหมู่บ้านในทุกพื้นที่และทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำประปาสะอาดและได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง