“Wood Pellets ตัวช่วยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality โอกาสของผู้ผลิตไทย”
มูลค่าอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 17%CAGR จาก 1.4 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 2.4 พันล้านบาทในปี 2568 ตามความต้องการจากกลุ่มโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งในประเทศและตลาดส่งออกหลัก เช่น เกาหลีใต้ ที่เพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจาก Wood Pellets
Krungthai COMPASS มองว่า กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตมากที่สุดในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets คือ กลุ่มธุรกิจผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของบริษัทที่มี By-product เป็นวัตถุดิบ โดยในช่วงปี 2561-64 มียอดขายเติบโตเฉลี่ยถึง 25%CAGR ในอนาคตยอดขายมีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการ Wood Pellets อีกทั้งยังสามารถจะขายโดยตรงกับผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งอาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากกลุ่มผู้จัดจำหน่าย Wood Pellets ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ธุรกิจผลิต Wood Pellets บางรายมีผลประกอบการที่ไม่ดีนัก จึงควรมีการปรับตัว ดังนี้ 1) ควรลงทุนเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมในทุกขั้นตอนของการผลิต 2) ควรได้รับการรับรองจาก FSC และ 3) ควรหันมาผลิต Torrefied Pellets มากขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellets) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG economy ที่มีแนวโน้มเติบโตตามกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐของทั่วโลกมากขึ้นในอนาคต หลังหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มีการใช้ Wood Pellets ในการผลิตไฟฟ้ามีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets เป็นอุตสาหกรรมที่แปรรูปเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เศษไม้ยางพารา ทะลายปาล์ม ฟางข้าว ให้เป็น Wood Pellets เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตพลังงานความร้อน และผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงทั่วไป
บทความนี้เป็นบทความที่ต่อจากบทความเรื่อง “Wood Pellets ตัวช่วยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality” โดยจะเน้นให้ผู้อ่านเข้าใจในด้านอุปทานหรืออุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ของไทยมากขึ้นในแง่ของโอกาสทางธุรกิจ และแนวทางในการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะก้าวสู่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
- แนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ในไทยเป็นอย่างไร ?
Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเป็น 2.6 พันล้านบาทในปี 2568 จาก 1.4 พันล้านบาทในปี 2564 หรือเติบโตเฉลี่ยที่เร่งขึ้น 17%CAGR โดยปัจจัยหนุนมาจากการขาย Wood Pellets ภายในประเทศและการส่งออกดังนี้
ยอดขายในประเทศคาดว่าจะเติบโตเป็น 1.8 พันล้านบาทในปี 2568 จาก 1.3 พันล้านบาทในปี 2564 หรือเติบโตเฉลี่ยที่ 7.8%CAGR ตามความต้องการ Wood Pellets จากโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยรายละเอียดสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง “Wood Pellets ตัวช่วยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality”
ยอดส่งออก Wood Pellets ของไทย คาดว่าจะขยายตัวเป็น 872 ล้านบาทในปี 2568 จาก 104 ล้านบาทในปี 2564 หรือเติบโตเฉลี่ย 70.2% CAGR[1] แม้ว่ายอดส่งออก Wood Pellets ของไทยลดลงเฉลี่ย 59% CAGR ในช่วงปี 2562-64 [2]เนื่องจากผู้ผลิต Wood Pellets ไม่สามารถส่งออก Wood Pellets ที่ตรงตามมาตรฐานของลูกค้าต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้เต็มที่นัก ซึ่งเกิดจากคุณภาพเชื้อเพลิงและการได้รับใบรับรองจาก Forest Stewardship Council (FSC) ที่รับรองว่าวัตถุดิบของสินค้าดังกล่าวมาจากป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ แต่คาดว่ายอดส่งออกจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะนอกเหนือจากผู้ประกอบการบางรายของไทยในอุตสาหกรรมนี้ได้เริ่มปรับตัวในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการขอใบรับรอง FSC แล้ว ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติม ดังนี้
ความต้องการ Wood Pellets ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่สุดของไทย ซึ่งคิดสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 80% [3]คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 3.3 ล้านตันในปี 2564 เป็น 4.6 ล้านตันในปี 2568 ตามกำลังการขยายกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึง Wood Pellets นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิง Wood Pellets ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 10% ของปริมาณการผลิต ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2564 เป็น 20.5% ในปี 2568[1]
ความต้องการ Wood Pellets ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณ 20% [1]ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2564 เป็น 9.2 ล้านตันในปี 2568 เนื่องจากคาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งรวมถึง Wood Pellets จะเกิดขึ้นใหม่อีก 6,330 เมกะวัตต์ ในระยะข้างหน้า โดยคาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวน 2,267 เมกะวัตต์ จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2573[2]
โอกาสผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets?
ความต้องการ Wood Pellets ที่มีมากขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ตามไปด้วย โดยผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่มผู้จัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวล 2)กลุ่มผู้ผลิต Wood Pellets และ 3)ผู้จัดจำหน่าย Wood Pellets โดยมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มผู้จัดหาวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร และบริษัทที่จัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลให้กับผู้ผลิต Wood Pellets เพื่อแปรรูปต่อไป โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะขายเชื้อเพลิงชีวมวลประเภทไม้ยางพาราเป็นหลัก รองลงมา คือ ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก และไม้โตเร็ว เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ของไทย[1]
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาศักยภาพด้านความเพียงพอของวัตถุดิบหลักในการผลิตเชื้อเพลิง Wood Pellets อย่างไม้ยางพาราและไม้เศรษฐกิจของทุกภูมิภาค[1] ในปัจจุบัน พบว่า ในภาพรวม ปริมาณเชื้อเพลิงมีเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ของไทย จนถึงปี 2568 เป็นอย่างน้อย แต่อาจเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบหลักในบางพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือและภาคกลาง ตั้งแต่ปี 2565
เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบดังกล่าวในภาคเหนือและภาคกลาง เกษตรกรและผู้ประกอบการในกลุ่มนี้สามารถจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลชนิดอื่นๆ เช่น ฟางข้าว ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานใกล้เคียงกับไม้ยางพาราและเหลือใช้จำนวนมากในพื้นดังกล่าวทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม อาจไม่สามารถขายให้กับผู้ผลิต Wood Pellets เพื่อส่งออก เนื่องจากเชื้อเพลิง Wood Pellets ที่ไม่ผลิตมาจากไม้ เช่น ฟางข้าว มักมีปริมาณขี้เถ้ามากกว่ามาตรฐาน Wood Pellets ของตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น ญี่ปุ่น[2]
- กลุ่มผู้ผลิต Wood Pellets ทำหน้าที่ผลิต และจัดจำหน่าย Wood Pellets ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets มีจำนวนทั้งหมด 24 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 83% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด (29 บริษัท) [1]โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบขนาดใหญ่สุดในประเทศ รองลงมาคือภาคกลาง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 42% และ 33% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ตามลำดับ
ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มาจาก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิต Wood Pellets เป็นหลัก ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 14 ราย และ 2)กลุ่มบริษัทที่เป็นเครือข่ายของบริษัทที่มี By-product เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต อย่างไม้ยางพารา เช่น โรงงานแปรรูปไม้ โรงงานแปรรูปยาง ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10 ราย
เมื่อพิจารณาผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มผู้ผลิต Wood Pellets ในช่วงปี 2561–64 พบว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีผลประกอบการที่ไม่ดีมากนัก สะท้อนจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561-64 ที่อยู่ประมาณ -6.6% เนื่องจากผู้ประกอบการมักลงทุนเครื่องจักรเฉพาะบางขั้นตอนของกระบวนการผลิต เช่น ขั้นตอนการอัดเม็ด จึงทำให้ไม่สามารถผลิต Wood Pellets ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่าย Wood Pellets ได้ในราคาที่คุ้มต้นทุนการผลิต[2]
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของบริษัทที่มี By–product เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์พอใช้ สะท้อนจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตราการเติบโตของยอดขายโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561-64 ที่อยู่ประมาณ 2.0% และ 57.6% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีวัตถุดิบเหลือใช้จากธุรกิจในเครือข่ายที่สามารถนำแปรรูปเป็น Wood Pellets และมีเครือข่ายของเกษตรกรอยู่ในมือ จึงทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงของกลุ่มนี้ไม่สูงมากนัก ประกอบกับ ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มักลงทุนเครื่องจักรในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต จึงทำให้สามารถผลิต Wood Pellets ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานความต้องการของลูกค้า และขายในราคาที่สูงได้
Krungthai COMPASS มองว่า ผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของบริษัทที่มี By-product เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีแนวโน้มเติบโตดีในระยะข้างหน้า ตามมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets ด้วยเหตุผลข้างต้น อีกทั้ง ภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้ที่ไม่สูงมากนัก สะท้อนจากค่า HHI อยู่ที่ 1,634 [3]จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงงานแปรรูปไม้และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราเข้ามาในธุรกิจนี้เพิ่มเติม
กลุ่มผู้จัดจำหน่าย Wood Pellets ซึ่งรับซื้อจากผู้ผลิต Wood Pellets เพื่อนำไปขายต่อ มีจำนวนทั้งหมด 5 บริษัท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด (29 บริษัท) โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการคิดเป็นสัดส่วนภาคละ 40% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในกลุ่มนี้
เมื่อพิจารณาผลประกอบการของกลุ่มผู้จัดจำหน่าย Wood Pellets ในช่วงปี 2561-64 จะพบว่า ผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตราการเติบโตของยอดขายโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561-64 ที่อยู่ประมาณ 8.0% และ 4.2% ตามลำดับ [1]เพราะผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มักซื้อตัวอย่าง Wood Pellets ไปทดสอบว่าเชื้อเพลิงดังกล่าวได้มาตรฐานตามความต้องการตลาดหรือไม่ ก่อนที่จะนำมาขาย จึงทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องทำการทดสอบซ้ำ ส่งผลให้ขายสินค้าได้เร็วและมากขึ้น [2]อีกทั้ง ยังไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการแปรรูปและเครื่องจักร อีกด้วย
อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS คาดว่าผลประกอบการของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะชะลอตัวลงในอนาคต เนื่องจากผู้ผลิต Wood Pellets มีแนวโน้มหันมาขายโดยตรงกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งจะบั่นทอนโอกาสของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในระยะยาว
จากการวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets พบว่า ผู้ผลิต Wood Pellets โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของบริษัทที่มี By-product เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีศักยภาพในการเติบโตมากกว่าผู้จัดจำหน่าย Wood Pellets ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผู้ผลิต Wood Pellets มีผลประกอบการที่ไม่ดีมากนัก จึงควรปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จในระยะยาว โดยรายละเอียดของแนวทางในการปรับตัวจะวิเคราะห์ในหัวข้อถัดไป
ผู้ผลิต Wood Pellets ควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ?
เมื่อพิจารณาภาพรวมของกลุ่มผู้ผลิต Wood Pellets ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลประกอบการที่ไม่ดีมากนัก ประกอบกับ ยอดส่งออก Wood Pellets ของไทยที่ลดลง ผู้ผลิต Wood Pellets ของไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
ควรลงทุนเครื่องจักรที่มีคุณภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต Wood Pellets ตั้งแต่ขั้นตอนการบดย่อยเชื้อเพลิงชีวมวล ลดความชื้น ผสมวัตถุดิบและอัดเป็นเม็ด เพื่อให้สามารถผลิต Wood Pellets ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งใช้งบการลงทุนประมาณ 13.8 ล้านบาท[1]ทั้งนี้ งบประมาณจำนวนนี้สามารถติดตั้งเครื่องจักรที่กำลังการผลิต 2 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งสามารถสร้างรายได้สุดสูงถึง 13-17 ล้านบาท/ปี [2]โดยรายชื่อของผู้ผลิตเครื่องจักรผลิต Wood Pellet ที่เป็นยอมรับในระดับโลกสามารถคลิกได้ใน Link นี้
ควรตั้งโรงงานผลิต Wood Pellets ในบริเวณที่เป็นแหล่งวัตถุดิบชีวมวลประเภทไม้ยางพาราและไม้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เพื่อจะได้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะป้อนให้กับโรงงานในระยะยาว และลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเชื้อเพลิง
ควรร่วมมือกับเกษตรกร หรือสวนป่าที่จัดหาวัตถุดิบให้โรงงาน เพื่อขอการรับรองจากมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) ซึ่งจะทำให้ Wood Pellets จากไทยเป็นยอมรับและสามารถขยายตลาดได้มากขึ้นในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมทั้งอาจสามารถขยายไปในตลาดใหม่ๆ เช่น สหภาพยุโรป อีกด้วย สอดคล้องกับผลสำรวจของ FSC จากผู้ประกอบการในเดนมาร์กที่พบว่า เกือบ 50%ของผู้ประกอบการสามารถเอาสินค้าเข้าขายในตลาดใหม่ได้มากขึ้น หลังได้รับการรับรองจาก FSC[1] อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกตามมาตรฐาน FSC ที่เพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%18 เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในธุรกิจนี้ ยกตัวอย่าง เช่น บจก. สยามฟอเรสทรี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง[2] โดยสามารถปรึกษาวิธีการขอรับรองจากมาตรฐาน FSC ได้ที่ SGS Thailand ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้การรับรองมาตรฐานดังกล่าว
ควรจับมือกับบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี Torrefaction เช่น Blackwood Technology และ Bioendev เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาและผลิต Torrefied Pellets ซึ่งมีคุณภาพเชื้อเพลิงที่สูงกว่า Wood Pellets เพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งทำให้สินค้าจากไทยเป็นที่ยอมรับ และสามารถแข่งขันด้านคุณภาพกับสินค้าจากอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา ได้มากขึ้นในตลาดส่งออกหลัก เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ต้นทุนการผลิต Torrefied Pellets สูงกว่า Wood Pellets ถึง 32% จึงทำให้ผู้ส่งออกของไทยจำเป็นต้องขายในราคาเดียวกับแคนาดา เพื่อรักษาอัตรากำไรให้ใกล้เคียงกับระดับเดิม โดยรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่ในรูปที่ 6 และ 7
ควรขอการส่งเสริมการลงทุนจาก The Board of Investment of Thailand (BOI) โดยธุรกิจผลิต Wood Pellets เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ BGC economy ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รวมถึงยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิต [3]
สรุป:
อุตสาหกรรมการผลิต Wood Pellets มีแนวโน้มเติบโตดีในช่วงปี 2564-68 ตามความต้องการจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศ และโรงไฟฟ้าในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น หลังภาครัฐมีเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มดีที่สุด คือ ธุรกิจผลิต Wood Pellets โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายบริษัทที่มี By-product เป็นวัตถุดิบในการผลิต Wood Pellets อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายในกลุ่มผู้ผลิต Wood Pellets มีผลประกอบการที่ไม่ดีมากนัก จึงจำเป็นต้องปรับตัวทั้งในแง่ของการลงทุนเครื่องจักรในการผลิต
ครบวงจร การขอการรับรองมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) และการหันมาผลิต Torrefied Pellets มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้