ผลการเลือกตั้งกลางเทอมส่งผลต่อการผ่านร่างกฎหมายในสภาคองเกรส
ผลการเลือกตั้งกลางเทอมในเบื้องต้น พรรครีพับลิกันมีแนวโน้มสูงที่จะครองสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่วุฒิสภายังมีคะแนนสูสี ทำให้การผ่านร่างกฎหมายสำคัญหลังจากนี้ไม่ง่าย รัฐบาลเผชิญข้อจำกัดในการขยายเพดานหนี้ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยปรับลดการใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะที่นโยบายประชานิยมที่จะช่วยเพิ่มคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยถัดไปจะกลายมาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองในช่วง 2 ปีข้างหน้า อาทิ การผ่านกฎหมายทำแท้งเสรี นโยบายการปรับเพิ่ม/ลดภาษี การถกเถียงในเรื่องสิทธิครอบครองอาวุธปืน แต่นโยบายกดดันจีนยังคงเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม
อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งคงไม่เปลี่ยนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ทั้งปีคาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ขยายตัวจากปีก่อนหน้า กดดันการค้าโลกรวมถึงการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่คาดว่า เติบโตเชื่องช้าลงเหลือเลขหลักเดียวที่ 1.1% โดยมีมูลค่าส่งออกราว 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ
การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมานั้น ผลการนับคะแนนในเบื้องต้นพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มสูงที่จะครองสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่วุฒิสภายังมีคะแนนสูสี และแม้ว่าผลการเลือกตั้งกลางเทอมอย่างเป็นทางการหลังวันที่ 6 ธ.ค. 2565 จะออกมาว่าพรรคเดโมแครตจะยังได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้หรือไม่จากผลคะแนนตัดสินที่เหลืออีก 4 ที่นั่ง (ผลการนับคะแนน ณ วันที่ 10 พ.ย. 2565 ทั้ง 2 พรรคมีคะแนนเท่ากันที่ 48:48) แต่การที่พรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ส่งผลต่อการบริหารงานของนายโจ ไบเดนในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยการผ่านร่างกฎหมายหลังจากนี้ไม่ง่าย รัฐบาลใช้จ่ายและก่อหนี้ได้อย่างจำกัด แนวนโยบายของพรรครีพับลิกันจะเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นกลับมาและเรียกคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งสมัยถัดไปจึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
ผลคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันที่ชนะไม่ขาดในสภาผู้แทนราษฏร และคะแนนเสียงในสภาสูงของพรรคเดโมแครตก็สูสีจึงเป็นอุปสรรคในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญของทั้งสองพรรค แม้พรรครีพับลิกันจะสามารถผลักดันกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรและเจรจาต่อรองจนวุฒิสภาโหวตให้ แต่ในท้ายที่สุดด้วยกลไกทางการเมืองสหรัฐฯ เปิดทางให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีสิทธิคว่ำหรือใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) ร่างกฎหมายของอีกฝ่ายได้ และถ้าหากสภายังยืนยันจะผ่านร่างกฏหมายดังกล่าวให้ได้จะต้องมีเสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภาถึง 2 ใน 3 ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันไม่น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ในฝั่งเดโมแครตแม้ครองสภาสูงได้สำเร็จแต่ในทางปฏิบัติ ร่างกฎหมายที่นำเสนอต่อสภาคงถูกพรรครีพับลิกันขัดขวางตั้งแต่สภาล่างอยู่ดี
“การขยายเพดานหนี้” เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองของรีพับลิกัน เป็นโจทย์หินที่รัฐบาลต้องเตรียมแผนเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้และป้องกันรัฐบาลปิดตัว(Government shutdown) ด้วยแผนการใช้จ่ายที่ผ่านมาโดยเฉพาะ Inflation Reduction Act ที่เป็นวงเงินขนาดใหญ่ รวมถึงรายจ่ายที่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ทำให้ยอดการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยมา ยอดหนี้คงค้างสาธารณะเริ่มเข้าใกล้เพดานปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นปี 2566 ขณะที่จุดยืนการใช้จ่ายงบประมาณที่ต่างกันอย่างมากของทั้งสองพรรคการเมืองทำให้รัฐบาลอาจต้องใช้เวลายาวนานในการต่อรองขอขยายเพดานหนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเลยกำหนดเวลาการขยายหนี้ ส่งผลต่อการดำเนินงานของภาครัฐที่ต้องหยุดชะงักเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้คงใช้เวลาไม่นานเพราะทั้งสองฝ่ายคงไม่อยากเสียคะแนนนิยมจากฐานเสียงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องได้รับผลกระทบดังกล่าว ในท้ายที่สุดรัฐบาลคงต้องยอมปรับลดรายจ่ายบางรายการเพื่อให้เพดานหนี้อยู่ในกรอบที่พรรครีพับลิกันจำกัดไว้
คะแนนนิยมจากประชาชนชาวอเมริกันเป็นตัวกำหนดเส้นทางนโยบายในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็เร่งผลักดันนโยบายที่จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 โดยรีพับลิกันคงใช้แต้มต่อในสภาล่างเดินหน้าขัดขวางนโยบายของนายโจ ไบเดน บั่นทอนคะแนนนิยมของของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม อาทิกดดันให้ปรับลดโครงการใช้จ่ายในด้านพลังงานสะอาด ลดงบประกันสังคม ลดงบด้านการศึกษา ลดเงินอุดหนุนรายการใหม่ตามแผน Inflation Reduction Act นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันยังจะเดินหน้าผลักดันแผนงานประชานิยมในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างการเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายปกป้องสิทธิเด็กที่จะเกิดมาโดยห้ามทำแท้งเมื่ออายุครรภ์เกิน 15 สัปดาห์ ให้เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละรัฐที่มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์ชาวอเมริกันมากกว่า การจำกัดจำนวนผู้อพยพสานต่อนโยบายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงการสร้างกำแพงสกัดการข้ามแดนผิดกฎหมายที่ชายแดนระหว่างประเทศเม็กซิโกที่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าใดนัก การต่อต้านการจำกัดสิทธิครอบครองอาวุธปืน พร้อมทั้งเดินหน้าผลักดันการลดภาษีรายได้ชนชั้นกลางซึ่งเข้าถึงใจชาวอเมริกันในเวลานี้
นโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อจีนไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะดำเนินต่อไป ตอกย้ำแนวคิดในทิศทางเดียวกันของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน สำหรับงบประมาณทางการทหารและเงินช่วยเหลือยูเครนแม้พรรครีพับลิกันจะมีแผนปรับลดงบประมาณด้านนี้แต่คงกดดันรัฐบาลเพียงในระดับที่จำเป็น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและคงไว้ซึ่งบทบาทของสรัฐฯ ในเวทีโลกทั้งด้านการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งทางการทหาร
ขณะที่ผลเลือกตั้งกลางเทอมคงไม่ได้เปลี่ยนภาพทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก ด้วยภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณเติบโตชะลอลงอย่างและมีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในปี 2566 โดยจากถ้อยแถลงของเฟดหลังการประชุม FOMC วันที่ 1-2 พ.ย. ที่ผ่านมา เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จซึ่งเฟดคงจะยังไม่พิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ส่งผลให้ตลาดปรับคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะไปแตะระดับสูงสุดที่ระดับเกินกว่า 5.00% ในปีหน้า และเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนั้นยาวนานกว่าที่เคยคาด ซึ่งผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟดจะส่งผลให้ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในปีหน้านั้นมีมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากพิจารณาตัวเลขทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะแทบไม่ขยายตัวจากปีนี้ หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ราว 0% ในกรณีฐาน อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อไม่ลดลงตามคาด และเฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นกว่าที่คาด เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงหดตัวลึกกว่าที่คาด หรือมากกว่า 2 ไตรมาส ส่งผลให้ทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัวลงได้ สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่โต จะกดดันการส่งออกของไทยที่ต้องเผชิญกับการส่งออกฐานที่สูงในปีนี้ ทำให้คาดว่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จะเติบโตเชื่องช้าลงเหลือเลขหลักเดียวที่ 1.1% โดยมีมูลค่าส่งออกราว 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากปัจจุบันที่สหรัฐฯ เป็นตลาดอันดับ 1 ของไทยและเป็นตลาดที่เติบโตดีที่สุด โดยการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวสูงถึง 18.9% และมีมูลค่าถึง 36,447 ล้านดอลลาร์ฯ