สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ต.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (69 มม.) จ.ชุมพร (65 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (62 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 23 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,563 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง 67 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 520 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มทยอยลดลง จึงทยอยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,602 ลบ.ม./วินาที ส่วนที่สถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,960 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ 54 ลบ.ม./วินาที
สถานการณ์น้ำแม่น้ำป่าสัก ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ได้ปรับลดการระบายน้ำอยู่ที่อัตรา 241 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับลดลงตามไปด้วย อยู่ที่ 496 ลบ.ม./วินาที
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 33 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สตูล ตรัง และนราธิวาส
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,485 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,240 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 21 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร บึงบระเพ็ด และหนองหาร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามหน่วยงานจัดการน้ำหลังฤดูฝน
กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง คาดปีนี้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ หลังอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำเกือบเต็มอ่างฯ ขณะนี้เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะสิ้นสุดฤดูฝนยกเว้นภาคใต้
ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันและร่องมรสุมถึงหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวเกือบทั่วประเทศ ส่งผลให้ปริมาณในแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ปริมาณน้ำเกือบเต็มอ่างฯ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างเพียงพอ และได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 โดยแบ่งตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ส่วนการเกษตรจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ รวมทั้งเครือข่ายชลประทาน ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูกอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะสิ้นสุดลง ช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิต และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำตลอดฤดูแล้งได้อีกด้วย