“บิ๊กตู่” วาง 10 กฎเหล็กถึงผู้ว่าฯ -ทุกหน่วยงานดูแลประชาชนสู้ภัยพิบัติ
โฆษกรัฐบาลย้ำนโยบายนายกฯ 10 ข้อถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยให้ถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อได้นำไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการพยากรณ์ และคาดการณ์ลักษณะอากาศวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย แจ้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ประสานไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น
2.ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล สาธารณภัย ให้พร้อมออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย อาทิ การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ/การเปิดทางน้ำ/ผลักดันน้ำ ออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม
3.กำชับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนน ในการตรวจสอบปรับปรุง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร ติดตั้งป้าย/สัญญาณจราจรแจ้งเตือนประชาชนใช้ความระมัดระวัง หรือหลีกเสี่ยงเส้นทางดังกล่าวให้ชัดเจน โดยให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากถนนให้ครบถ้วน ทั้งทางลอด การติดตั้งสัญญาณจราจร ป้าย ควรแจ้งเตือนและเฝ้าระวังเส้นทางหลีกเลี่ยง และควรปักแนวถนน สำหรับรถวิ่งผ่าน ในกรณีที่ถนนน้ำท่วม
4.เมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบ ความเสียหายในด้านต่าง ๆ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว
5.เมื่อเกิดน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ให้มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตลอดจนเชิญชวนประชาชนจิตอาสา ร่วมเฝ้าระวัง และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ตลอดจนภาคเอกชน ในการใช้เครื่องจักรกลสาธารณภัยเปิดทางน้ำ หรือสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ และการช่วยเหลือประชาชน
6.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงแผนการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการตามที่ประชาชนได้มีการร้องขอ
7.ให้กรมประชาสัมพันธ์ และจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ผลการดำเนินการของภาครัฐ แก่พี่น้องประชาชนให้รวดเร็ว ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
8.การให้บริการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ต้องให้บริการได้นานและต่อเนื่องที่สุด และต้องมีแผนสำรองด้านการสื่อสาร
9.ให้เตรียมแผนรองรับในพื้นที่เศรษฐกิจ โรงพยาบาล สาธารณสุข เกษตรกร ชาวประมง ปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์ ให้มีแผนสื่อสารที่ชัดเจนว่าจะได้รับการดูแลอะไรบ้าง
10.การเตรียมความพร้อมศูนย์อพยพต้องเพียงพอ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
“นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการเดินทางไปตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ โดยต้องการไปให้กำลังใจประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลประชาชนเป็นสำคัญ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” นายอนุชาฯ กล่าว