ศึกนอก-ใน “รบ.ตู่ภาค 2” บีบเศรษฐกิจไทย
250 เสียงในฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เพิ่งประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันก่อน เมื่อนำมารวมกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 11 เสียงจากพรรคเล็ก และจำนวน ส.ส.ของพรรครวมพลังประชารัฐ (พปชร.) อีก 115 คน ก็น่าจะทำให้หลายคนในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี … รู้สึกเบาใจขึ้น
อย่างน้อย…สิ่งที่ได้ขับเคลื่อนและดำเนินการในมิติของเศรษฐกิจ เมื่อครั้งครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตลอดระยะเวลา 5 ปีเต็มของ รัฐบาล คสช. ก็จะได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ในช่วงเวลานับจากนี้ไป จำนวนเสียงสมาชิกฯของ 2 สภาฯ (ส.ว. + ส.ส.) ในซีกที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย มีรวมกันคือ 250 + 11 + 115 = 376 คน (ต้องไม่มีงูเห่าและภาวะเสียงแตกของพรรคร่วมรัฐบาล) ตรงนี้…ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มี 250 + 500 = 750 เสียง (กึ่งหนึ่ง คือ 375 เสียง) เรื่องการรวมเสียง ส.ส.และ ส.ว. เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเป็นรัฐบาลนั้น ดูเหมือนทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ ดร.สมคิด รวมถึง “กองเชียร์” ทั้งในและนอกสภาฯ คงไม่มีอะไรให้ต้อง “ติดใจ” แต่ที่หลายคนในกลุ่มนี้ ยังคงรู้สึกเป็นห่วงและกังวลใจมากยิ่งกว่า น่าจะเป็นสภาวะ “ปริ่มน้ำ” เพราะเสียงที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล “ลุงตู่ภาค 2” นั้น ในการบริหารประเทศ และผ่านกฎหมายสำคัญๆอย่าง…พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ เสียง ส.ว. ที่ยกมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็น…นายกรัฐมนตรีนั้น มิอาจจะก้าวล่วงในสภาผู้แทนราษฎรได้แต่อย่างใด
หากยึดโยงเฉพาะแค่ ส.ส.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 115 + 11 = 126 เสียงแล้ว ถือว่า “ตายสนิท” ในเวลาที่ต้อง “ยกมือ” โหวตเสียงรับรองเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นที่ แกนนำ พปชร. และคนที่คุมเกมอยู่เบื้องหลัง จะต้อง “ดึง” 2 พรรคขนาดกลาง อย่าง…พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ส.เขตฯ 33 + บัญชีรายชื่อ 19 = 51 เสียง และพรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส.เขตฯ 39 + บัญชีรายชื่อ 12 = 51 เสียง เท่ากัน มาร่วมงานการเมืองไว้ด้วยกัน
หากดึง 2 พรรคนี้ มาร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้ รัฐบาลชุดใหม่ก็จะมีเสียง ส.ส.อยู่ในมือรวมกัน 228 เสียง แต่นั่นก็ยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของ 500 เสียง (เกินกึ่งหนึ่ง = 251) ดังนั้น พปชร.จะต้องดึงพรรคอื่นๆ ที่เคยประกาศ “ไม่เอา” พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมงานกันอีก ซึ่งจะเป็น…พรรคไหนนั้น คงต้องลุ้นกันต่อไป? สมมุติว่า…พปชร.สามารถดึงเสียง ส.ส.มาได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือพร้อมจะเดินหน้าต่อ แม้เสียง ส.ส.ที่จะมายกมือสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร…มีไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ตาม ประเด็นที่จะต้องจับตามองกันต่อไป รัฐบาล “ลุงตู่ภาค 2” และทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ ดร.สมคิด (ถ้าไม่ถอดใจเสียก่อน) จะทำอย่างไรกับงบประมาณรายจ่ายที่มี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในและนอกประเทศที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
แม้กรมสรรพากร ในยุคของ ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ จะยืนยันว่า…ยังคงจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตามประมาณการที่ตั้งไว้ คือ 2 ล้านล้านบาท กระนั้น ตัวเขาก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้กับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก รวมถึงการนำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่ม สินค้าทุนและเครื่องจักร ที่ส่งสัญญาณมาตลอดช่วงเวลาหลายสิบเดือนที่ผ่านมาว่า…ลดลงจนน่าใจหาย
ในซีกการส่งออก…เมื่อคาดการณ์การส่งออก ถูกประเมินและปรับลดลงจากเดิม 7-8% มาอยู่ 3% เศษๆ นั่นก็สะท้อนว่า…รายได้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร รวมถึงกรมภาษีอื่นๆ ย่อมต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ส่วนฟากของการนำเข้า แน่นอนว่า…เมื่อสินค้าทุนและเครื่องจักรมีการสั่งเข้ามาน้อยลง ย่อมแสดงว่า…การขยายกำลังการผลิตภายในประเทศ ย่อมต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เมื่อลดกำลังการผลิต ย่อมต้องลดปริมาณการจำหน่ายตามไปด้วย ทั้งหมดกย่อมระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย?
ปีนี้ กรมสรรพากรและกรมภาษีอื่นๆ อาจจะยังจัดเก็บรายได้เข้าเป้า แล้วสิ่งนี้…ยังจะตรงตามเป้าในปีต่อๆ ไปหรือไม่? หากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งในและนอกประเทศยังเป็นเช่นนี้กลับมาดูที่งบประมาณรายจ่ายฯ เท่าที่ฟังเสียงจาก นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่บอกก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีวงเงินสำหรับการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ประมาณ 2-3% ของกรอบงบประมาณรายจ่าย หรือคิดเป็นวงเงิน…แค่ไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปีเท่านั้น ถือเป็นวงเงินที่ไม่มากนัก หากรัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายเพื่อเป็น “สวัสดิการประชาชน” ตามที่หาเสียงกันไว้
ลำพัง พรรคแกนนำรัฐบาล อย่าง พปชร. ก็ไม่น่าเป็นห่วงอะไรนัก เพราะรู้ๆ กันอยู่ แต่กับพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีมากหน้าหลายตานี่สิ…ทุกพรรค และรัฐมนตรีทุกคนของพรรค ต่างก็อยากจะโชว์ผลงานให้กับต้นสังกัด ตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนทั้งสิ้นในขณะที่วงเงินส่วนนี้มีเพียงแค่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมิอาจกระจายงบประมาณให้กับทุกพรรคร่วมรัฐบาล นำไปใช้หาเสียงและตอบคำถามกับฐานเสียงที่สนันสนุนกันมาได้แล้ว…ปมนี้จะเป็นปัญหาต่อการขับเคลื่อนของรัฐบาล “ลุงตู่ภาค 2” หรือเปล่า ? ศึกนอกก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว หากยังจะมีศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาล กระหน่ำและสร้างแรงบีบตามมาให้หนักอกกันอีก ดูท่าว่า…อนาคตประเทศไทย และเศรษฐกิจไทย ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่นนี้…คงไปได้ไม่ไกลสักเท่าใดนัก
สุดท้าย…คนไทยคงต้องกลับไปเลือกตั้งกันใหม่ ทั้งๆ ที่ยังมี 250 ส.ว. เป็น “ด่านหน้า” คอยกระตุกขวัญพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม จนกว่าจะสิ้นสุดอายุงาน 5 ปี
จึงมิอาจจะมั่นใจได้เลยว่า…เศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้ายังจะดีได้อย่างไร? ในเมื่อการเมืองไทยยังคงเป็นเช่นนี้.