“เอกนิติ” นำสรรพสามิตมุ่งสู่สังคมคุณภาพชีวิต
สรรพสามิต เล็งเก็บภาษีเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำลายส่ิงแวดล้อม เพื่อความน่าอยู่ของสังคมและความยั่งยืนของประเทศ
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ2566 กรมสรรพสามิต จะศึกษาการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพและส่ิงแวดล้อม ดังนี้ 1. น้ำมันไบไอเจ็ท 2.ไบไอพลาสติก 3.แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า 4.เหล้า-เบียร์ มีแอลกอฮอลล์ 0% 5.บุหรี่ไฟฟ้า และ6.ภาษีคาร์บอน โดยตั้งเป้าว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะมีข้อสรุปชัดเจนภายในปีนี้ ส่วนจะจัดเก็บเมื่อใดนั้น ต้องรอเวลาการกำหนดพิกัดอัตราภาษีที่เหมาะสมก่อน
ทั้งนี้ปัจจุบันกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีแบตเตอรี่อยู่แล้ว 8% แต่หากปรับโครงสร้างภาษี จะเป็นในรูปแบบ แบตเตอรี่ที่นำมารีไซเคิลได้ อาจไม่เก็บภาษี หากรีไซเคิลไม่ได้ จัดเก็บอัตราภาษีแพง เช่นเดียวกับภาษีเหล้า-เบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอลล์สูง ก็เก็บภาษีสูง แต่หากไม่มีแอลกอฮอล์หรือ เบียร์-เหล้า 0% ก็จัดเก็บภาษีต่ำ ภายใต้หลักการสินค้าทำลายสิ่งแวดล้อมก็ต้องเก็บภาษีสูง รักษาสิ่งแวดล้อม เก็บภาษีต่ำ เช่นเดียวกับภาษีความเค็มมาก และความหวานมาก ก็ต้องเก็บภาษีสูง หวานน้อยเค็มน้อยก็เก็บภาษีต่ำ เพื่อรักษาสุขภาพของคนไทย”
“ในแต่ละปีรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณการรักษาสุขภาพของประชาชนมากกว่า 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน มีผู้ป่วยฟอกไต 100,000-200,000 คน และยังมีผู้ป่วยโรคปอด โรคตับแข็งอีกจำนวนมาก ประกอบกับประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล ดังนั้นจึงควรใช้มาตรการช่วยลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”
นายเอกนิติ กล่าวว่า การศึกษาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล(Governance) หรือ ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ส่งเสริมสังคม และสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมสรรพสามิตยังสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพการคลังและวางรากฐานให้สังคมไทยด้วย โดยปีงบประมาณ2566 กรมสรรพสามิตมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้รวม 567,000 ล้านบาท
นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมี 4 เทรนด์ที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต ได้แก่ 1. การฟื้นตัวจากโควิด-19 ท่ามกลางสงครามการค้าและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 2. การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค 3. สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพมีการเติบโตมากขึ้น และ 4. ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สู่ความยั่งยืนในอนาคต