กรมศุลฯ แจงจับหนีภาษีแค่ เม.ย.กว่า 280 ล.
กรมศุลฯ เผยยอดจับกุมสินค้าหนี้ภาษีเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบความผิดกว่า 2,400 คดี แยกเป็นคดี “ลักลอบ-เลี่ยงอากร-สินค้าหลีกเลี่ยงข้อห้าม” รวมเงินของกลางกว่า 280 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกรมศุลกากรแจ้งผลการดำเนินงานในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง โดยในเดือน เม.ย.62 พบการกระทำความผิด 2,466 แฟ้มคดี รวมมูลค่าของกลาง 281.87 ล้านบาท แยกเป็นคดีลักลอบ 454 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 54.14 ล้านบาท, คดีหลีกเลี่ยงอากร 1,887 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 183.60 ล้านบาท และคดีสินค้าหลีกเลี่ยงข้อห้าม 125 คดี มูลค่าของกลางประมาณ 44.13 ล้านบาท
โดยสามารถแยกประเภทได้ คือ คดีลักลอบ ประกอบด้วย 1.สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 107 คดี รวมมูลค่าของกลาง 6.20 ล้านบาท, 2.สินค้าสุรา เบียร์ และบุหรี่ 100 คดี รวมมูลค่าของกลาง 1.99 ล้านบาท, 3.สินค้าพืชผลทางการเกษตรและเนื้อโค กระบือ 47 คดี รวมมูลค่าของกลาง 2.98 ล้านบาท, 4.สินค้าอุปโภค/บริโภค 51 คดี รวมมูลค่าของกลาง 8.11 ล้านบาท และ 5. สินค้าอื่นๆ 49 คดี รวมมูลค่าของกลาง 34.86 ล้านบาท
ด้านคดีหลีกเลี่ยงอากร ประกอบด้วย 1.เครื่องมือ อุปกรณ์ อะไหล่ 234 คดี รวมมูลค่าของกลาง 39.71 ล้านบาท, 2.สินค้าอุปโภค-บริโภค 563 คดี รวมมูลค่าของกลาง 31.03 ล้านบาท, 3.อุปกรณ์ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ 487 คดี รวมมูลค่าของกลาง 21.94 ล้านบาท, 4.สินค้าอะไหล่และยานยนต์ 79 คดี รวมมูลค่าของกลาง 2.20 ล้านบาท และ 5.สินค้าอื่นๆ 524 คดี รวมมูลค่าของกลาง 88.72 ล้านบาท
ส่วนคดีสินค้าต้องห้าม นำเข้า/ส่งออก/นำผ่านราชอาณาจักร ประกอบด้วย 1.สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 78 คดี รวมมูลค่าของกลาง 24.68 ล้านบาท, 2.ยาเสพติด 22 คดี รวมมูลค่าของกลาง 17.74 ล้านบาท, 3. บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 19 คดี รวมมูลค่าของกลาง 0.63 ล้านบาท, 4.สินค้า CITES 1 คดี รวมมูลค่าของกลาง 0.41 ล้านบาท และ 5.สินค้าอื่นๆ 5 คดี รวมมูลค่าของกลาง 0.67 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องของกรมศุลกากร สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กรมศุลกากรยังคงยึดมั่นในการปกป้องสังคมให้ปลอดภัยด้วยระบบควบคุมทางศุลกากร เพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ และพร้อมเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก.