‘ใจบันดาลแรง’ บริหารเศรษฐกิจ ‘บิ๊กป้อม’ สั่งรับมือพลังงานราคาผันผวน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีอาวุโสสูงสุดในรัฐบาล ขยับขึ้นมาเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ในห้วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ปมการดำรงตำแหน่ง 8 ปี จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมา
แม้ว่าพล.อ.ประวิตร หรือ “บิ๊กป้อม” จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีมานานหลายปี และมีตำแหน่งบริหารเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็น “พี่ใหญ่” ทางการเมืองที่มี ส.ส.ให้ความเคารพยำเกรง แต่เมื่อต้องมารักษาการในตำแหน่งนายรัฐมนตรี สังคมต่างจับตามองว่า พล.อ.ประวิตรจะเดินหน้าบริหารงานในด้านต่างๆไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่ โดยเฉพาะในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายเรื่อง และมีหลายประเด็นที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจให้การช่วยเหลือประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ราคาพลังงาน และดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น สวนทางกับรายได้ประชาชนที่ลดลง
พล.อ.ประวิตรบอกกับผู้สื่อข่าวว่าทำงานในช่วงนี้ใช้ “ใจบันดาลแรง” ในการทำงานไม่ได้ใช้แรงบันดาลใจ ส่งผลให้ช่วงเวลาการทำงานที่ผ่านมานั่งเป็นประธานการประชุม ครม. และลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำที่เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรา ถึงทำได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนผู้สื่อข่าวถึงกับทักทายว่า สุขภาพแข็งแรงขึ้น ดูการเดินเหินคล่องแคล่ว การสั่งงานข้าราชการก็ทำได้อย่างรวดเร็วไม่ติดขัด เหมือนกับการแสดง “บทบาทผู้นำ”ให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์
เรียกคีย์แมนประชุมก่อน ครม.
ในการประชุมสำคัญอย่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประวิตร นั่งเป็นประธานเต็มตัวนั้น มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประวิตรได้เรียกคีย์แมนคนสำคัญในรัฐบาลที่มีบทบาทในการประชุม ครม.ทั้งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าไปประชุมฯหารือที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อตั้งเวลา 6 นาฬิกา เพื่อให้มีการบรีฟเรื่องต่างๆให้ทราบก่อน พร้อมทั้งสอบทานข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการในเรื่องใดได้บ้าง
รวมถึงการคัดกรองจัดลำดับความสำคัญในการอนุมัติโครงการว่าในส่วนที่จะใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากงบกลางฯนั้นมีข้อจำกัดเหลืออยู่เพียงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีการรายการที่จะขอใช้อยู่เกินวงเงินดังกล่าว ได้แก่ งบประมาณในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางโดยอุดหนุนค่าไฟฟ้าบางส่วนเป็นระยะเวลา 4 เดือน (ก.ย. – ธ.ค.) ซึ่งจะต้องใช้วงเงินประมาณ 8 พันล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอโดยกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ขณะที่ พล.อ.ประวิตรในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีรายชื่อโครงการเร่งด่วนในการซ่อมแซมถนน คันกั้นน้ำ และแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่เทศบาล และท้องถิ่นในพื้นที่ 69 จังหวัด อยู่เป็นวงเงินประมาณ 5.28 พันล้านบาท
ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีการทักท้วงกันในการประชุม ครม.จึงเป็นอันตกลงว่าให้ถอนเรื่องของการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนออกไปก่อน และพิจารณาเฉพาะเรื่องงบกลางฯ 5.28 พันล้านบาทที่จะจัดงบลงไปในท้องถิ่นก่อน ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าให้ไปจัดทำเรื่องเข้ามาเสนอใหม่ ทั้งนี้มีทางเลือกว่าหากจะช่วยเหลือประชาชนเป็นระยะเวลา 4 เดือน จะใช้งบกลางฯ 8 พันล้านบาท ซึ่งต้องทำงบประมาณเป็น 2 ส่วนคือ 2 พันล้านบาทแรกให้ข้อใช้จากงบกลางฯปี 2565 และส่วนที่เหลืออีก 6 พันล้านให้ขอใช้จากงบกลางฯปี 2566
การเรียกหน่วยงานสำคัญมาหารือแต่เช้าตรู่ทำให้การประชุม ครม.ในครั้งแรกที่พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเป็นครั้งแรก การประชุมเป็นไปอย่างรวดเร็วสามารถเลิกประชุมได้ก่อนเวลา 12 นาฬิกา โดยเป็นการประชุมแบบ Non Stop ไม่มีการหยุดพักเบรก ไม่มีการลุกไปเข้าห้องน้ำของในระหว่างการประชุม ครม.ของพล.อ.ประวิตรแม้แต่
สั่งงาน 4 ด้านเกี่ยวข้องเศรษฐกิจ
พล.อ.ประวิตรในฐานะประธานการประชุม ครม.ในครั้งที่ผ่านมาได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับงานในด้าน “เศรษฐกิจ” หลายข้อ ได้แก่
1.สั่งการรับมือแนวโน้มราคาพลังงานที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่สหภาพยุโรปจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะมีปริมาณความต้องการใช้พลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกหลังจากที่มีแนวโน้มราคาสูงมาตลอดทั้งปี โดยพล.อ.ประวิตร ได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ไว้ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องการต่ออายุลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และค่าการกลั่น
2.สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐ ติดตามมาตรการประหยัดพลังงาน เดินหน้าลดการใช้พลังงานอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายให้ลดการใช้พลังงานให้ได้ ได้ 20% ทุกส่วนราชการ
3.ให้ติดตามการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการศึกษาการติดตั้งโซล่าเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร หรือ solar roof-top เพื่อประหยัดพลังงานในครัวเรือนว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
และ 4.ได้สั่งการให้มีการติดตามความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำ โดยได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย พร้อมกับให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะมีเพิ่มมากขึ้น
อนุมัติ 5.28 พันล้านลง 69 จังหวัด
ทั้งนี้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ประชุม ครม.ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 5,282 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน 69 จังหวัด จำนวน 2,086 โครงการ เพื่อเร่งฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง ถนนและพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ อปท.ให้กลับมาใช้งานปกติโดยเร็ว โดยโครงการที่จะไปดำเนินการ เช่น การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซ่อมแซมถนนลาดยางมะตอย ปรับปรุงผิวจราจรจากลูกรังเป็นถนนหินคลุกบดอัด ซ่อมแซมไหล่ถนน ขุดลอกคูคลองและขุดสระน้ำเป็นต้น ซึ่ง ครม.ย้ำให้ทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
โดยหน่วยงานรับงบประมาณ ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 12 จังหวัด 414 โครงการ , เทศบาลนคร 1 จังหวัด 2 โครงการ ,เทศบาลเมือง 10 จังหวัด 19 โครงการ ,กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 68 จังหวัด 1,651 โครงการ , เทศบาลตำบล 58จังหวัด 430 โครงการ , องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 68 จังหวัด 1,221 โครงการ
ส่วนวงเงินงบประมาณจำแนกตามภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 9 จังหวัด 183 โครงการ วงเงิน 346.13 ล้านบาท ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด 883 โครงการ วงเงิน 1,884.28 ล้านบาท ,ภาคกลาง 6 จังหวัด 580 โครงการ วงเงิน 1,146.00ล้านบาท
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 52 โครงการ วงเงิน 142.02 ล้านบาท ,ภาคตะวันตก 5จังหวัด 65 โครงการ วงเงิน 325.90 ล้านบาท และภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด 323 โครงการ วงเงิน 1,438.24 ล้านบาท
ลงนามคำสั่งมีอำนาจเต็มบริหารงาน
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. ครั้งที่ผ่านมายังรับทราบ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 215/2565 ที่ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ในเรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 ส.ค.2565 และให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 24 ส.ค.2565
โดยคำสั่งดังกล่าวให้ พล.อ.ประวิตร รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และกรณี พล.อ.ประวิตร ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับดังนี้ นายวิษณุ เครืองาม ,นายอนุทิน ชาญวีรกูล ,นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ,นายดอน ปรมัตถ์วินัย และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
นอกจากนี้กำหนดให้ พล.อ.ประวิตร มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการหรือองค์กรใด กรณีผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีที่มาทำหน้าที่แทน พล.อ.ประวิตร จะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติงบประมาณที่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตร ก่อน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะทำให้พล.อ.ประวิตรในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการบริหารงานทั้งเรื่องการอนุมัติวาระต่างๆรวมทั้งจัดสรรงบประมาณได้เต็มที่โดยไม่ต้องปรึกษากับพล.อ.ประยุทธ์ก่อน
เตรียมนั่งประธานการประชุมคณะกรรมการสำคัญ
นอกจากการประชุม ครม. แล้วตามระเบียบบริหารราชการแผ่นรักษาการนายกรัฐมนตรี สามารถที่จะเป็นประธานการประชุมทุกคณะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่รอการประชุมอยู่ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีเรื่องสำคัญที่รอการอนุมัติอยู่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่าในการประชุม กพช.นั้น ได้แจ้งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ว่ามีการประชุมที่สำคัญด้านเศรษฐกิจที่ค้างอยู่คือการประชุม ซึ่งมีเรื่องการต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ส่วนเรื่องของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ คาดว่าจะเข้าสู่การประชุม กพช.ในครั้งต่อไป
โดยในเบื้องต้นในเรื่องนี้สามารถหารือกันในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อหารือในเรื่องสัดส่วนการผลิตเชื้อเพลิงของประเทศที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน (โซลาลูฟท็อป) ที่ทำควบคู่กันได้
สำหรับการประชุม นบข.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ตอบกระทู้ฝ่ายค้านในสภาฯว่าโครงการประกันราคาข้าวปีที่ 4 ได้มีการผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม นบข.ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยมีวงเงินที่จะเสนอขอใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ในการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันราคาให้กับชาวนา บวกกับค่าปรับปรุงการผลิต และค่าช่วยเหลือเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งการของบประมาณในจำนวนนี้ยอมรับว่ามาก แต่ถือว่าอยู่ในวิสัยที่กระทรวงการคลังจะบริหารจัดการได้ตามสัดส่วนภาระหนี้ต่อสัดส่วนงบประมาณ
ทั้งนี้นอกจากการประกันรายได้ข้าวยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการประกันราคาพืชอื่นๆได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาไว้ว่าจะใช้นโยบายนี้ในการดูแลเกษตรกรของประเทศ
ทั้งหมดคือภาพรวมการบริหารงานของบิ๊กป้อม ในฐานะรักษาการนายกฯในสัปดาห์แรกหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการขยับกระชับ อำนาจ บริหารงบประมาณ และหน่วยงานในช่วงเวลาต่อจากนี้อีกหลายระลอกจนกว่าจะมีความชัดเจนในทางการเมือง และสถานะของพล.อ.ประยุทธ์หลังจากที่ศาลฯมีคำสั่งชี้ขาดว่าจะเป็นไปในทางใด