สรรพากรจี้ทำบัญชีเดียวก่อนถูกย้อนหลัง
สรรพาการเปิดช่องผู้ประกอบการ “ซุกบัญชี” ทำดีล้างกรรมเก่า ยื่นแจ้งบัญชีเดียวและงบการเงินตรงไปตรงมา ชี้มีผลดีเพียบ “ต้นทุนกู้ต่ำ-แหล่งกู้เยอะ-ลดเสี่ยงถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง” ชี้หมดเขต 30 พ.ค.นี้
กรมสรรพากรเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จัดทำและใช้บัญชีและงบการเงินอย่างถูกต้อง โดยมีตัวแทนสถาบันการเงิน 17 แห่งเป็นสักขีพยาน และพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “บัญชีเดียว” ณ ห้องพระอุเทน 1 กรมสรรพากร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวระหว่างเปิดตัวงาน “เสี่ยงกว่ามั้ย…ถ้าไม่ใช้บัญชีเดียว” ว่า เพื่อช่วยผู้ประกอบการประเมินความเสี่ยง ด้านภาษีอากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ประโยชน์ของการจัดทำบัญชีเดียว และงบการเงินให้ถูกต้อง คือ การสร้างความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่วยลดต้นทุนในการกู้เงิน และการลดความเสี่ยงจากการโดนตรวจโดยกรมสรรพากร ซึ่งหากถูกประเมิน ภาษีจะต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ปัจจุบันกรมสรรพากรได้นำระบบเกณฑ์ประเมินความเสี่ยง Risk-Based Assessment และ Data Analytics เข้ามาช่วยในการหากลุ่มเสี่ยงในการหลบภาษี เช่น การสร้างรายจ่ายเท็จของธุรกิจบางราย
“ขณะนี้ กรมสรรพากรมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทำบัญชีเดียว โดยสามารถยื่นแบบปรับปรุง และชำระภาษีอากรโดยไม่ต้องมีเบี้ยปรับเงินเพิ่ม” อธิบดีกรมสรรพากรย้ำ และว่า ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิทางระบบส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดยภายหลังลงทะเบียนและชำระภาษีอากรแล้ว ผู้ประกอบการต้องยื่นแบบผ่านระบบ e-Filing ทุกแบบที่กรมสรรพากรให้บริการ ตั้งแต่ 1 ก.ค.62 ถึง 30 มิ.ย.63 ให้ครบถ้วนด้วย
ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า จากตัวเลขผู้ประกอบการในไทย ทั้งที่มีการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม 2.5 ล้านราย และไม่ผ่านการทำสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมอีก 2.7 ล้านราย รวม 5.2 ล้านรายนั้น มีที่ยื่นเสียภาษีเพียง 400,000 รายเท่านั้น ทั้งนี้ กรมสรรพากรและหน่วยงานรัฐ รวมถึงสถาบันการเงินภาคเอกชน จะอ้างอิงตัวเลข 400,000 รายนี้ เพื่อนำไปดำเนินธุรกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้ มีบางส่วนที่มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินมากกว่าบัญชีเดียว ซึ่งในอนาคตอาจมีปัญหาจากการสุ่มตรวจของกรมสรรพากร จึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ได้ร่วมกันทำกรรมดีลบล้างกรรมเก่าในอดีต ตามที่กรมสรรพากรได้เปิดโอกาสให้ยื่นแจ้งบัญชีเดียวและงบประมาณที่ตรงไปตรงมาในปีบัญชี 2559 และ 2560 ที่ผ่านมา
“หากผู้ประกอบการได้ปรับแก้บัญชีและงบการเงินให้ถูกต้อง พร้อมยื่นได้ทันกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรระบุไว้ ก็จะถือเป็นการลบล้างความผิดในอดีตทั้งหมด โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด แถมยังได้สิทธิ์ส่วนลดดอกเบี้ยเงินจากสถาบันการเงินทั้ง 17 แห่งสูงสุดถึง 2% ทีเดียว ขณะที่ ยังได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้จาก บสย. เดิมกำหนดไว้ 1.75% เหลือเพียง 0.5% หรือลดมากถึง 1.25% เลยทีเดียว” ดร.รักษ์ย้ำและว่า หากผู้ประกอบการร่วมกันทำบัญชีเดียว เชื่อว่าความสำคัญของเอสเอ็มอีจากเดิมที่เคยมีสัดส่วนสูงราว 40% ของจีดีพี ก็จะกลายเป็นมากกว่า 50% ของจีดีพี
อนึ่ง ช่วงนี้เป็นหนึ่งเดือนสุดท้ายของกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2561 ด้วย ดังนั้น กรมสรรพากรจึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีชุดเดียวและงบการเงินให้ถูกต้อง และยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภายในวันที่ 30 พ.ค.62
อย่างไรก็ตาม กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอินเทอร์เน็ต จะสามารถยื่นแบบได้ถึงวันที่ 7 มิ.ย.62 โดยกรมสรรพากรได้จัดเตรียม Tax Ambassador ประจำสำนักงานสรรพากรพื้นที่ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เพื่อให้บริการแนะนำความรู้ความเข้าใจในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและการชำระภาษีกรมสรรพากรให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สมเป็น “กรมสรรพากรยุคใหม่” ที่จะพัฒนาการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เสียภาษีอย่างแท้จริง.