ปรับค่าแรงขั้นต่ำกดกำไรนายจ้างลดลง 15%
อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง คาดอาจมีกำไรลดลง 5%-15% จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5% จากอัตราเดิม เริ่ม 1 ต.ค.65 จะมีผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีถัดไป โดยอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 0.5% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงเฉลี่ยราว 4.6%
สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง ซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง เบื้องต้นอาจมีกำไรลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือลดลง 5%-15% ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาดของแต่ละธุรกิจ ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายด้าน แต่อาจสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด ซึ่งตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่ และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้
นอกจากความแตกต่างด้านพื้นที่แล้ว โครงสร้างต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่ต่างกัน ก็มีผลทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่เท่ากันจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตรากำไรจากการดำเนินงานหรือ Operating Profit Margin (OPM) ของภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยโดยรวมอาจถูกกระทบราว 4.6% จากสัดส่วนต้นทุนแรงงานที่อยู่ที่ราว 10.2% ของต้นทุนรวม ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลทำให้ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นราว 0.5% ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่ และธุรกิจต้องปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานในอัตราเดียวกันนี้ แม้บางส่วนอาจจะไม่ได้จ้างแรงงานโดยอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำก็ตาม
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง ไม่ว่าจะเป็น การทำเกษตร (กสิกรรม ประมง เป็นต้น) ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกำไรที่อาจลดลงราว 5%-15% หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ขณะที่บางกิจการในอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร เป็นกลุ่มที่เผชิญความท้าทายสูง เนื่องจากจังหวะเวลาของการพลิกกลับมาทำกำไรอาจถูกเลื่อนออกไปจากเดิมจากประเด็นด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายด้าน แต่อาจสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด ซึ่งตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่ และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้
ไม่เพียงต้นทุนแรงงาน ที่จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมได้เผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนมาก่อนหน้านี้และยังมีแนวโน้มที่ต้นทุนจะยังคาอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน และถัดจากนี้อาจยังมีต้นทุนทางการเงิน ท่ามกลางสถานการณ์ฝั่งรายได้ที่ในภาพรวมแม้จะเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังมีความเปราะบางและเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ยังไม่แข็งแรง นั่นหมายความว่า การรักษาความสามารถในการทำกำไรจะยังคงเป็นโจทย์ท้าทายเฉพาะหน้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นเรื่องแรงงานจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยจะเริ่มมีจำนวนที่ลดลง และแรงงานมีอายุมากขึ้นหรือเป็นสังคมสูงวัยสุดยอด (Hyper-aged society) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้หากพอจะทำได้ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนรวดเร็วและซับซ้อนขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานในอุตสาหกรรมไทยยังมีความไม่เท่ากัน และในระดับประเทศถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเวียดนาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคอุตสาหกรรมเผชิญความท้าทายจากโจทย์เฉพาะหน้าด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและอาจคาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งวัตถุดิบ พลังงาน ต้นทุนทางการเงิน ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งรายการต้นทุนที่เข้ามากดดันและอาจกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานหรือมาร์จิ้น ซึ่งธุรกิจแต่ละรายจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไปตามโครงสร้างต้นทุนที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาดของตน
ไม่เพียงโจทย์เฉพาะหน้า ไปข้างหน้าภาคอุตสาหกรรมจะยังถูกกดดันจากประเด็นแรงงานภายใต้โครงสร้างประชากรไทยที่จำนวนจะลดลงและเป็นผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งนอกจากศักยภาพด้านรายได้ที่อาจเติบโตในอัตราที่จำกัดลงท่ามกลางการแข่งขันที่สูงแล้ว ผู้ประกอบการอาจประสบอุปสรรคด้านต้นทุนจากภาวะขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่คงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านผลิตภาพแรงงานตั้งแต่ตอนนี้หากสามารถดำเนินการได้ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งข้นและอยู่รอดได้ในระยะกลางถึงยาว