สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ส.ค. 65
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิด และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชุมพร (82 มม.) จ.ตาก (61 มม.) และ จ.ชลบุรี (50 มม.)
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 29 – 31 ส.ค. 65
เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ได้แก่ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์
เขื่อนเเควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก ปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 200 ลบ.ม./วินาที เป็น 220 ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย
เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได จากวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำพองและแม่น้ำชี
เขื่อนลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ ระบายน้ำประมาณ 167 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ประมาณ 1,100 ไร่
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,691 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,114 ล้าน ลบ.ม. (63%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วลม แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง ขุนด่านปราการชล หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำตะโคง จ.บุรีรัมย์
เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ควบคุมระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ให้เป็นไปตามเกณฑ์ควบคุม และมีช่องว่างเพียงพอสำหรับรองรับน้ำใหม่จากปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีเพิ่มในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได จากอัตราการระบายน้ำวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 1,283 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุ ระดับน้ำในอ่างสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด 1.51 เมตร หรือ 348 ล้าน ลบ.ม. ยังเหลือความจุรองรับน้ำได้อีก 1,148 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 65 หลังฝนที่ตกหนักในพื้นที่ทำให้เกิดการกัดเซาะของน้ำบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่ง จนเกิดการทะลุออกทำนบดินด้านท้าย ซึ่งน้ำได้กัดเซาะบริเวณฐานรากใต้พื้นอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา ทำให้ตัวฝายและกำแพงด้านข้างฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำล้นเกิดการชำรุดเสียหาย กรมชลประทาน (ชป.) ได้ทำกาลักน้ำเพื่อช่วยเพิ่มการระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำในพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และตรวจสอบสภาพเขื่อน ก่อสร้างทำนบชั่วคราว (Coffer Dam) โอบล้อมบริเวณอาคารที่ชำรุดเสียหายและบริเวณตัวคันดินฝั่งขวาที่ถูกน้ำกัดเซาะ เพื่อเก็บกักน้ำบางส่วนไว้ใช้ในฤดูแล้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 65 ทั้งนี้ ชป. จะเร่งรัดซ่อมแซมเขื่อนให้แข็งแรงสมบูรณ์ก่อนถึงฤดูฝนปีหน้าต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 33/2565 ลงวันที่ 23 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26 – 31 ส.ค. 25651 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย และเมืองมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย และร่องคำจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เสลภูมิ และอาจสามารถ จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์ และยางชุมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงาน
กรมโยธาธิการและผังเมือง ตรวจสอบระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก และปริมาณฝนที่จะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนกันยายน พร้อมเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝนตามแนวทาง 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 31 ส.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และในช่วงวันที่ 1 ส.ค. –3 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” (MA-ON) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทําให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก และที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มม. และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลําน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500 – 1,800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้า ซึ่งในระหว่างวันที่ 24 – 28 ส.ค. 2565 ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี นครนายก ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม