กรมบัญชีกลางแจ้งผลงานครึ่งปีแรก
บัญชีกลางมั่นใจเบิกงบประมาณได้ตามเป้าหมาย ดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมดูแลข้าราชการเจ็บป่วยทัวประเทศได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางมีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ ให้เป็นไปโดยถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยการวางกรอบหลักเกณฑ์กลางให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติ การให้บริการคำแนะนำปรึกษาด้านการเงินการคลัง การบัญชี การตรวจสอบภายใน การบริหารเงินนอกงบประมาณ และการพัสดุภาครัฐ การกำกับดูแลนโยบายและมาตรฐานค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งการเสนอข้อมูลในเชิงนโยบายการคลังแก่ฝ่ายบริหารโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการคลัง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการตามภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
กรมบัญชีกลางได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยส่งคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2565 ทั้งส่วนกลาง และคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เร่งสนับสนุนและให้คำแนะนำหน่วยรับงบประมาณทุกแห่ง ให้ดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายให้เร่งรัดการดำเนินงาน การก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูลตั้งแต่ 1 ต.ค.2564 – 31 ก.ค. 2565) มีผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาพรวมใช้จ่ายแล้ว 2,670,217 ล้านบาท คิดเป็น 86.14% ของวงเงินงบประมาณ 3,100,000 ล้านบาท จำแนกเป็น รายจ่ายลงทุนใช้จ่ายแล้ว 459,180 ล้านบาท คิดเป็น 76.08% ของวงเงินงบประมาณ 603,510 ล้านบาท รายจ่ายประจำใช้จ่ายแล้ว 2,211,037 ล้านบาท คิดเป็น 88.57% ของวงเงินงบประมาณ 2,496,490 ล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีใช้จ่ายแล้ว 235,526 ล้านบาท คิดเป็น 98.74% ของวงเงินงบประมาณ 238,532 ล้านบาท
2. การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมบัญชีกลางได้ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และยังคงดำเนินการขยายสิทธิการเข้าถึงยาราคาสูง โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายค่ายาที่มีราคาแพงสำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา จำนวน 7 รายการยา กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง จำนวน 3 รายการยา และกลุ่มโรคทางระบบประสาท จำนวน 1 รายการยา นอกจากนี้ยังคงกำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาล โดยกำหนดอัตราเบิกจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้นอีก 6 รายการ ซึ่งเป็นยาที่มีจำหน่ายทั้งยาต้นแบบและยาสามัญที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันและได้รับการรับรองจากสมาคมวิชาชีพ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2565) มีจำนวน 4,738,115 คน แบ่งเป็นเจ้าของสิทธิ 2,221,434 คน และบุคคลในครอบครัว 2,516,681 คน และมีผลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.2565) เบิกจ่ายแล้ว ทั้งสิ้น 74,267 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคทั่วไป 64,896.20 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด จำนวน 9,370,80 ล้านบาท
3. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลางได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้เจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ 2.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (สินค้า Made In Thailand) ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับงานกับหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้นมูลค่า 421,881.86 ล้านบาท จากมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 804,447.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.44% ของวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในประเด็นการเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะใช้รูปแบบการอุทธรณ์ออนไลน์แทนการรับ-ส่งหนังสือ เพื่อลดขั้นตอน และลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดภาระของผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐด้วย อีกทั้งจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมตามมูลค่าของโครงการที่มีการอุทธรณ์ โดยจะคืนค่าใช้จ่ายให้กรณีที่การอุทธรณ์เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการอุทธรณ์ที่ผู้อุทธรณ์มีเจตนาไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่ใช้สิทธิของตนตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐมีความล่าช้า กระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ New e-GP ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำปัญหาและอุปสรรคในการเข้าใช้งานระบบ e-bidding เดิม มาทบทวนและปรับปรุงกระบวนงานให้มีความทันสมัยสอดรับกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิ ภาพการทำงานของระบบ และป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลการเสนอราคา e-bidding โดยได้ปรับปรุง กระบวนการเผยแพร่ประกาศและการยื่นข้อเสนอ รวมทั้งลดระยะเวลาการยื่นข้อเสนอเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลราคา โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e – bidding และนำ Smart Contract มาใช้ในการควบคุมสิทธิและระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้เสนอราคา เป็นแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication) นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบช่องโหว่ในระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนตรวจสอบช่องโหว่ระบบ e- bidding ที่พัฒนาขึ้นใหม่ด้วย
4. นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนงานด้านต่างๆ 4.1 พัฒนาระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ หรือ New GFMIS Thai ซึ่งจะช่วยให้การเบิกเงินจากคลัง รับเงิน จ่ายเงิน และนำเงินส่งคลัง ของหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับจำนวนผู้ใช้งานในระบบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถสรุปข้อมูลเป็นรายวัน จากเดิมที่สรุปเป็นรายสัปดาห์ และสามารถเชื่อมโยงกับระบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งการใช้งานในระบบ New GFMIS Thai (ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2565 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2565) สามารถรองรับหน่วยเบิกจ่ายในระบบทั้งสิ้น 16,061 หน่วยเบิกจ่าย (ที่ไม่ใช่ อปท. 8,206 หน่วยเบิกจ่าย และที่เป็น อปท. 7,855 หน่วยเบิกจ่าย) มีจำนวนผู้เข้าใช้งาน (User) ที่เข้าใช้งานในระบบเฉลี่ยต่อวัน 4,045 Users และมีหน่วยงานต่าง ๆ เบิกจ่ายเงินผ่านระบบ New GFMIS Thai แล้ว เป็นจำนวนเงิน 929,402.72 ล้านบาท
4.2 พัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือ Digital Pension ซึ่งเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐของกรมบัญชีกลาง โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบจ่ายตรงเงินเดือนและค่าจ้างประจำ (e-Payroll) กับระบบสวัสดิการักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิรับเงินและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตลอดจน ลดกระบวนงานอนุมัติสั่งจ่าย การขอหนังสือรับรองสิทธิในบำเหน็จตกทอด เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ประกัน การกู้เงิน นอกจากนี้ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนา Mobile Application ชื่อว่า “Digital Pension” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้รับบำนาญได้ติดตามข่าวสาร ตรวจสอบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ตรวจสอบหนังสือสั่งจ่ายบำเหน็จบำนาญ ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินในแต่ละเดือน รวมถึงตรวจสอบทะเบียนประวัติของตนเอง เช่น รายชื่อบุคคลในครอบครัว หรือรายชื่อผู้แสดงเจตนาระบุตัวผู้รับบำเหน็จตกทอดได้อีกด้วย
และ5. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ซึ่งประกอบด้วย คลังจังหวัด เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่บูรณาการและประสานงานในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้ทราบ โดยมีหน่วยงานรับลงทะเบียน ได้แก่ สำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัด สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ สำนักงานเมืองพัทยา สาขาธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา พร้อมทั้งยังมีหน่วยบริการ ณ จุดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 8,000 แห่ง ดังนั้น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่เดิมและประชาชนที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนใหม่ทุกราย
โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาคุณสมบัติทั้งรายบุคคลและครอบครัวของผู้ลงทะเบียนตามเกณฑ์ที่กำหนด หากลงทะเบียนและได้รับสิทธิ จะต้องใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ทั้งนี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีสิทธิปัจจุบันจะสามารถใช้สิทธิได้ถึงก่อนวันที่จะเริ่มใช้บัตรประจำตัวประชาชนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 โดยกำหนดการสมัครเข้าร่วมโครงการกระทรวงการคลังจะประกาศให้ทราบต่อไป
“อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ปรับปรุงระบบงานของกรมบัญชีกลางในทุกมิติให้มีความทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่สำคัญยังต้องมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในงานด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจอย่างเต็มความภาคภูมิและสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงการคลังอย่าง เต็มประสิทธิภาพ ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และวิสัยทัศน์ “กำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด”