‘บิ๊กตู่’ กำชับเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน 7-9 ส.ค.นี้
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ กำชับผู้ว่าฯ-ปภ. เขต เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 7-9 ส.ค. เฝ้าระวังน้ำเหนือพื้นที่เขื่อนเจ้าพระยา แจ้งเตือนประชาชน-ผู้ประกอบการ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ล่าสุด (7 ส.ค. 65) ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.หนองคาย (164 มม.) จ.ตราด (146 มม.) และ จ.ลำปาง (88 มม.) แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,566 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,545 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) โดย กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล และกรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. 65 จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือน ส.ค. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการ จ.อ่างทอง และ จ. พระนครศรีอยุธยา เตรียมพร้อมป้องกัน รับมือ ลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำดังกล่าวของ จ.อ่างทอง และจ.พระนครศรีอยุธยา ให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 65 เป็นต้นไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 7-8 ส.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนในระยะต่อไป และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 10 – 11 ส.ค. 65 โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยกรมอุตุนิยมวิทยามีข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. 65 ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง จนถึงวันที่ 9 ส.ค. 65
“นายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ให้เฝ้าระวังพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงภาคใต้ ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้กำหนดไว้ ย้ำให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ รวมทั้งลดผลกระทบจากสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ กำลังพล ให้พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชม. โดยหากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดสถานการณ์ หรือสถานการณ์ขยายวงกว้าง ให้มอบหมายบุคลากรชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และประสานด้านข้อมูลกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ได้ตลอด 24 ชม.” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว