สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ส.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ. หนองคาย (164 มม.) จ.ตราด (146 มม.) และ จ.ลำปาง (88 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,566 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,545 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล ดังนี้
กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 65 จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 700 – 1,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำทยอยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.20 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
จังหวัดนครราชสีมา ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลที่เพิ่มสูงขึ้นที่ อ.พิมาย ที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำแม่น้ำมูล ลำตะคอง ลำเชียงไกร ทำให้น้ำท่วมพื้นที่บริเวณโดยรอบ อ.พิมาย
โดยเขื่อนพิมายได้เร่งระบายน้ำออกเต็มอัตราตามธรรมชาติ อีกส่วนเร่งระบายออกตามคลองสายใหญ่ ซึ่งการเปิดประตูระบายน้ำ นอกจากจะเป็นการระบายน้ำที่มาจากพื้นที่ อ.หนองบุญมาก และเพื่อรองรับน้ำใหม่ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากพายุฝนที่จะเกิดขึ้นตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในระยะนี้ด้วย ในพื้นที่ อ.พิมาย มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยประกอบด้วย ต.ในเมืองต.ท่าหลวง และต.โบสถ์
กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 กรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง
น้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล บางประกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมทรัพยากรน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำบางแม่หม้าย ตำบลบางแม่หม้าย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งขุดลอกกำจัดผักตบชวาที่ขวางทางระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมนาข้าวบริเวณใกล้เคียง
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 7 – 9 ส.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแนวทางการดำเนินงาน และติดตามผลการดำเนินงานบริหารจัดการองค์กรลุ่มน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และได้ชี้แจงแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค. 2565 ณ โรงแรม เดอะคาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา