สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ส.ค. 65
มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครพนม (99 มม.) จ.ตราด (92 มม.) และ จ.เชียงราย (66 มม.)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องมรสุมพาดผ่าน และส่งผลให้เกิดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น กำชับให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด
โดยสั่งการให้ สทนช. ได้เร่งประสานหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดฝนตกหนัก ประกอบกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.9–2.0 เมตร ซึ่งอาจกระทบกับประชาชนที่อาศัยในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และแนวเขื่อนชั่วคราว รวมทั้งจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะแนวคันกั้นน้ำที่ชำรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี และสมุทรปราการ ทั้งนี้ สทนช. ได้ดำเนินการประสานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำชั่วคราว การสำรวจความมั่นคงแข็งแรงของแนวคันป้องกันไม่ให้เกิดน้ำหลากเข้าท่วมบ้านประชาชน รวมถึงประสานหน่วยงานรับผิดชอบปรับแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากจิตอาสา ช่วยสนับสนุนการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 ส.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 23/2565 ลงวันที่ 28 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงวันที่ 27 – 28 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 1.25 เมตร ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 8 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง พบจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 ส.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก วัง ยม น่าน แควน้อย ป่าสัก เจ้าพระยา เลย ชี มูล บางประกง และตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมเจ้าท่า ขุดลอกร่องน้ำในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ปัจจุบันขุดได้ 663 เมตร จากระยะทางตามแผน 1,300 เมตร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ และการสัญจรทางน้ำ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในวันที่ 5 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการสาธารณภัย “ในโอกาส 2 ทศวรรษ ปภ. เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อเรื่องระบบเตือนภัยแบบครบวงจร (End-to-End Earl Warning) อาทิเช่น ระบบเตือนภัยของประเทศไทย การบำรุงรักษาระบบการแจ้งเตือนภัย สถิติการเกิดแผ่นดินไหว ระบบเตือนภัยครบวงจรของกรุงเทพมหานคร การแจ้งเตือนภัยผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นเกี่ยวกับระบบการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน