สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ก.ค. 65
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช (148) จ.สระแก้ว (77) และ จ.สระบุรี (53)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,993 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,973 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์และน้ำพุง
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วัน บริเวณ จังหวัดจ.เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และสระแก้ว
กอนช. เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศ กอนช. เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20 – 24 ก.ค. 2565 จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน และเรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมขังในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำและแนวกระสอบทราย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กม. ประกอบด้วยแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของกรุงเทพมหานครความยาวประมาณ 79.63 กม. และแนวป้องกันตนเองของหน่วยงานราชการอื่นและของเอกชนความยาวประมาณ 8.30 กม. หากแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณที่มีระดับของแนวคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรงหรือแนวฟันหลอ กรุงเทพมหานครจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรงเพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงได้อย่างปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง สำหรับประชาชนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องคอยติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่แต่ละวันในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2565 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2565 เวลาประมาณ 19.00 – 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับกรมชลประทานได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 1 ส.ค. 2565 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมเจ้าท่า ดำเนินการเปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกคลองลำสนธิ ตำบลหนองรี อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรีตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ระยะทางประมาณ 1,150 เมตร โดยมีแผนดำเนินการ 40,000 ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการ 75 วัน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 13,500 ลบ.ม (33.75%) โดยผลที่ได้จากการขุดลอกในครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาอุทุกภัยซึ่งจะเกิดความเสียหายของเศรษฐกิจในชุมชนลดความเสียหายบ้านเรือนทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงและช่วยการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากต่อไป
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 28 – 29 ก.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้
4. สถานการณ์อุทกภัย
จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงในเขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ตำบลไทรน้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูล และอำเภอทับคล้อ คาดว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลลงคลองวังยาง วังโพรงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม อำเภอชุมแพ คาดว่าภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
จังหวัดชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอคอนสาร (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลดงบัง พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 610 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 – 1.0 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำท่วมอำเภอชุมแพ (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลไชยสอ พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 429 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 – 0.7 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผงที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา ความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำ C.13 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสถานีวัดน้ำ C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,100 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือ เขื่อน +16.40 ม.รทก.