สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ก.ค. 65
ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.พิษณุโลก (167) จ.หนองคาย (124) และ จ.พังงา (84)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,197 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,282 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วัน บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ จันทบุรี และตราด
กอนช. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 65 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังข้อมูล ปัญหา อุปสรรค และการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ปี 65 ร่วมกับกรมชลประทาน และได้หารือร่วมกันและวางแผนในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ติดตามสถานะความพร้อมของอาคารบังคับน้ำสำคัญ ได้แก่ ปตร.ผักไห่ ที่เป็นอาคารทดน้ำ จากแม่น้ำน้อย ให้ไหลผ่าน ปตร.ลาดชะโด ปตร.ลาดชิด ปตร. โพธิ์คอย เข้าสู่ทุ่งผักไห่ และการกำหนดเกณฑ์ในการควบคุม ความจุและระดับน้ำของทุ่งรับน้ำให้เหมาะสม พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ
กรมชลประทาน เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ในกรณีปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือไหลมาสมทบกันจนระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จะดำเนินการพร่องน้ำในคลองชายทะเล โดยใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมควบคุมระดับน้ำภายในคลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และใช้อาคารชลประทาน บริหารจัดการน้ำไม่ให้หลากเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย เฝ้าระวังระดับน้ำในคลองแสนแสบ คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองสำโรง หากมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเฝ้าระวัง จะประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อระบายน้ำออกทางแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 ก.ค. 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 ก.ค. 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 21 – 25 ก.ค. 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำและการเร่งระบายน้ำของสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสถานีสูบน้ำได้เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมควบคุมระดับน้ำภายในคลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด และได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากและเร็วขึ้น
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 22 – 23 ก.ค. 65 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก
ส่วนในช่วงวันที่ 24 – 28 ก.ค. ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลงทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,197 ล้าน ลบ.ม. (55%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 39,282 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,441 ล้าน ลบ.ม. (63%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,474 ล้าน ลบ.ม. (49%) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่จาง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนน้ำพุง