ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรพุ่งยกแผง
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนก.ค. 2565
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยราคาสินค้าเกษตรในเดือนก.ค. 2565 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการคลายล็อกดาวน์ การเปิดประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ การสร้างความมั่นคงทางอาหารส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร และโคเนื้อ ยกเว้น น้ำตาลทรายดิบและกุ้งขาวแวนนาไมที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนก.ค. 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,142 – 9,206 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.10% – 0.80% เนื่องจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ กำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกอาหารประกอบกับมีความต้องการใช้ข้าวเพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 13,964 – 14,074 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.15% – 0.94% เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,179 – 9,243 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.09% – 1.80% เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวลดลง เพราะราคาในปีที่ผ่านมาไม่จูงใจในการผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปี ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน ผลิตข้าวเหนียวไว้รับประทานในครัวเรือนและไม่กระจายไปยังภาคอื่น ๆ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5 % ราคาอยู่ที่ 10.54 – 10.59 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.22% – 0.65% เนื่องจากเป็นช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ปลูกมี.ค. – ต.ค.) ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับสิ้นสุดมาตรการเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประมาณการสำรองธัญพืชเพื่อการบริโภค และภาวะเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นปรับตัวสูงขึ้น
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.56 – 2.60 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.39% – 1.96% เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและเอทานอลเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 62.08 – 62.79 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.68% – 1.83% เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของจีนส่งผลให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติและมีการผลิตรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังสูง ส่งผลให้ราคายางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์สูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 10.11 – 11.35 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.01% – 16.76% เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การคมนาคมขนส่งกลับมาให้บริการอีกครั้ง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และ Supermarket กลับมาเปิดบริการตามปกติ สุกร ราคาอยู่ที่ 102.11 – 104.61 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.08% – 3.56% เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนค่าอาหารสัตว์ ค่าการจัดการทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และค่าขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ชะลอการปรับเพิ่มราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม จะทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 99.94 – 100.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.02% – 0.48% เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มและอาหาร รวมถึงเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง น้ำตาลทรายดิบ ราคาอยู่ที่ 18.54 – 18.64 เซนต์/ปอนด์ (14.46 – 14.54 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน 0.12% – 0.65% เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายโลกได้รับผลกระทบจากข่าวการลดภาษีน้ำมันของประเทศบราซิล อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาเอทานอลลดลงและกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ส่งผลให้อุปทานน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/ก.ก.) ราคาอยู่ที่ 148.82 – 149.76 บาท/กก. ราคาลดลงจาก เดือนก่อน 0.16% – 0.79% เนื่องจากคาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นจากการที่เกษตรกรเพิ่มการปล่อยลูกกุ้งตามต้นทุนราคาลูกกุ้งที่ปรับลดลง นอกจากนี้ ตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำกุ้งรายใหญ่ของไทย คาดว่าจะนำเข้ากุ้งลดลง เนื่องจากได้นำเข้ากุ้งแล้วจำนวนมากในช่วงก่อนหน้าจากผู้ผลิตกุ้งหลักในอินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ และยังมีสต็อกสะสมมาก