“อาคม” ยันเศรษฐกิจไทยฟื้นมั่นใจฝ่ามรสุมวิกฤตโลก
“เมื่อเศรษฐกิจประเทศไทย เริ่มดีขึ้นแล้ว กระทรวงการคลังจำเป็นต้องปรับให้ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในช่วงระหว่างเดินทางไปเปิดสำนักงานสาขาธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 9-12 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังระบุว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม หรือสภาพัฒน์ เพื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะจำเป็นต้องมีออกมาอย่างเนื่อง เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 และโครงการคนละครึ่งเฟส 5 แต่ในรายละเอียดของโครงการต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จากเดิมรัฐบาลให้กับทุกๆ คนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง แต่โครงการใหม่นี้ เราคิดว่า น่าจะให้เฉพาะกับคน หรือกลุ่มที่มีจำเป็นจริงๆ เช่น กลุ่มคนหรือธุรกิจที่ใช้น้ำมัน พวกมอเตอร์ไซค์และรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
“โครงการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนน่าจะหมดไปแล้ว เพราะกำลังซื้อภายในประเทศดีขึ้นมาก ขณะที่ พ.ร.ก.เงินกู้ที่ออกมาทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาท มีเงินให้เหลือใช้อีกเพียง 48,000 ล้านบาทเท่านั้น ถามว่า เยอะไหม ถ้าหากใช้ไปในโครงการที่มีขนาดใหญ่ ก็ไม่เพียงพอต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้อีก แต่หากเป็นโครงการขนาดเล็กก็ยังมีวงเงินเพียงพอที่จะดำเนินการได้ โดยกระทรวงการคลังจะสรุปทั้งหมดและพร้อมเสนอ ครม.ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย.นี้”
นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังกล่าวยืนยันว่า เศรษฐกิจไทย ไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเวลานี้ แม้ราคาสินค้าจะขึ้น แต่สินค้าก็ยังขายได้ คนไทยยังพอมีรายได้ แต่ประเด็นที่เป็นห่วงคือ ความสามารถในการซื้อของคนไทยลดน้อยลง เรียกว่า เศรษฐกิจสะดุด ส่วนภาวะเงินฝืดนั้น คือ สินค้าราคาขึ้น จีดีพีลง ประชากรมีอัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งของไทยไม่ได้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เพราะทุกอย่างกำลังดีขึ้น แม้ว่า รายได้ของคนไทยจะลดลงไปบ้าง
ส่วนกรณีที่การเก็บภาษีจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลาดหุ้น) นั้น รมว.คลัง คาดว่า ในเร็วๆ นี้ จะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ มีกำหนดเวลาล่วงหน้า 90 วันเพื่อ ให้โบกเกอร์จัดเตรียมระบบนำการส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้ประกาศไปล่วงหน้าแล้ว เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“เรื่องการจัดเก็บภาษี เป็นเรื่องที่ประกาศล่วงหน้าไม่ได้ แต่ทว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่รับรู้กันมา เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวด้วย ซึ่งความพร้อมอยู่ที่ว่า เราต้องเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีและเมื่อเสนอแล้วพระราชกฤษฎีกาจะมีผลเมื่อไหร่ ซึ่งเราจะมีระยะเวลา Grace period ไม่เกิน 90 วัน เพื่อให้โบรกเกอร์ต่างๆ ในการทำระบบข้อมูลและการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร ซึ่งจริงๆ แล้วระบบไม่ยาก แต่ใช้เวลาดำเนินการ”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บภาษีจากนักลงทุนในตลาดหุ้น หรือ Financial Transaction Tax เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าที่ขาย โดยภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งก่อนหน้านี้ รมว. ได้ออกมาระบุแนวทางการจัดเก็บว่า จะมีการจัดเก็บภาษีขายในอัตรา 0.1% ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยโบรกเกอร์ต้องนำส่งภาษีดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรทุกเดือน โดยประมาณว่า กรมสรรพากรจะมีรายได้จากภาษีรายการใหม่นี้ ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี