ธพว.ตั้ง 7 หมื่น ล.หนุนธุรกิจส่งสินค้าไทยขายทั่วโลก
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/06/th-7.jpg)
SME D Bank ตั้งเม็ดเงิน 7 หมื่นล้านบาท หวังปล่อยกู้ธุรกิจ ส่งสินค้าไทยไปขายต่างประเทศ เผยธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรจัดเป็น “ดาวรุ่ง” ไม่เพียงช่วยเกษตรกร หากยังกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติได้อีก จัดเต็มอัตราดอกเบี้ยถูกสุด 3 ปีแรกแค่ 0.25 – 0.42% ต่อเดือน
เม็ดเงินสินเชื่อราว 6-7 หมื่นล้านบาท คือ ตัวเลขเป้าหมายที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธวพ. / SME D Bank) คาดหวังจะปล่อยกู้ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งในและนอกภาคอุตสาหกรรม ตลอดทั้งปี 2562 โดยเฉพาะกลุ่มที่รับซื้อสินค้าเกษตร เพื่อนำไปต่อยอดผ่านการแปรรูป ก่อนส่งออกไปขายในต่างประเทศ
“SME D Bank จำเป็นจะต้องเร่งปล่อยสินให้กับธุรกิจที่มีโอกาสนำสินค้าเกษตรของไทย ส่งออกไปขายในประเทศต่างๆ กลยุทธ์นี้ไม่เพียงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และกลุ่มเกษตรกร หากยังมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางสภาวะอึมครึมในทางการเมืองและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ชะลอลง” นายพงษชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวระหว่างร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง บจ.ไท่ห่าวชือ ของไทย กับ บจ.เซินเจิ้น ซงธง โมเดิร์นซัพพลาย เชน แมเนจเม้นท์ จากจีน ณ สำนักงานใหญ่ ธพว. เมื่อช่วงสายของวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
เขาย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ให้กับ บจ.ไท่ห่าวซื่อ ซึ่งเป็นลูกค้าในโครงการ SME D Bank Business Matching อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างถูก เนื่องจากเป็นธุรกิจแปรรูปผลไม้ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรด้วยการรับซื้อพืชผลทางการเกษตรในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ทำให้ราคาพืชผลไม่ถูกกดราคารับซื้อเหมือนเช่นอดีต
อย่างไรก็ตาม บริษัทอื่นๆ ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับสินเชื่อเช่นกัน โดย ธพว.พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเพื่อใช้หมุนเวียน ผ่านโครงการ “สินเชื่อเพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน” (Local Economy Loan) ไว้รองรับ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี หากเป็นบุคคลธรรมดา 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.42% ต่อเดือน โดยปีที่ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ทั้งนี้ หากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก โดย 3 ปีแรก คิดเพียง 0.25% ต่อเดือน และ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี
สำหรับ บจ.ไท่ห่าวชือเป็นธุรกิจวิจัยและพัฒนาผลไม้เมืองร้อนของไทย นอกจากนี้ ยังทำการแปรรูปผลไม้ “ฟรีซดราย” ผลิตภัณฑ์อาหาร และของฝาก ภายใต้แบรนด์ “ไท่ห่าวชือ” (ไทยอร่อย) ส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน ในอาเซียน เอเชีย ยุโรป อเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการจับคู่ธุรกิจกับบจ.เซินเจิ้น ซงธง โมเดิร์นซัพพลาย เชน แมเนจเม้นท์ ซึ่งทำธุรกิจกระจายสินค้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ของจีน โดยมีสัญญารับซื้อสินค้ากลุ่มผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน มะม่วง และมะม่วงหิมพานต์ เพื่อกระจายในจีน เป็นเวลา 8 ปี ด้วยการปริมาณการซื้อปีละ 2,000 ตัน รวม 16,000 ตัน สร้างรายได้แก่เกษตรกรไทยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท หรือราว 2,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา
“เราอยากเห็นบริษัทอื่นๆ ที่มีศักยภาพจะนำสินค้าของไทย ทั้งสินเกษตรเกษตร เกษตรแปรรูป หรือสินค้าอุตสาหกรรมไปยังจำหน่ายยังต่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ธพว.ก็พร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนอยู่แล้ว” นายพงชาญย้ำ
ด้าน นางสาวธัญสิริ แซ่ตง กก.ผู้จัดการ บจ.ไทห่าวชือ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯมีส่วนช่วยเกษตรกรไทยไม่ต้องประสบปัญหาภาวะราคาผันผวนเพราะสินค้าล้นตลาด ขณะที่ผลไม้ไทยหลายอย่างเป็นที่ต้องการของตลาดในจีนและอีกหลายๆ ประเทศ ที่ผ่านมา บริษัทฯทำการผลิตสินค้าแปรรูปและนำไปแจกทดลองชิม โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง กระทั่ง กลายเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจีนจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่อีกมากมาย ที่ส่งไปขายในจีนและประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น มะม่วงอบแห้ง สัปปะรดภูแลอบแห้ง ขนุนทองประเสริฐอบกรอบ เนื้อจระเข้อบแห้งพริกไทยดำ เนื้อจระเข้อบแห้ง เนื้อมะพร้าวน้ำหอมอบกรอบ มะม่วงหิมพานต์ระมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์รสทุเรียน ลูกอบกลิ่นรสทุเรียน สาหร่ายย่างสอดไส้ทุเรียน หมอนทองอบกรอบ ทอฟฟีโบราณ และเครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป เป็นต้น.