สมอ.เผยเหตุ แก๊สกระป๋องร้านหมูกระทะระเบิด
สมอ. แจงเหตุ แก๊สกระป๋อง ร้านหมูกระทะ ระเบิด เพราะใช้งานผิดประเภท นำกระป๋องแก๊สเก่ามาเติมใหม่ ความดันแก๊สสูงจึงเกิดระเบิด เตือนผู้บริโภคเลือกร้านเตาถ่าน หรือเตาไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตลาดนัดเลียบทางด่วนรามอินทรา และตลาดหัวมุม เพื่อตรวจสอบร้านหมูกระทะจากกรณีแก๊สกระป๋องระเบิด ว่า สมอ. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจร้านหมูกระทะบริเวณตลาดนัดเลียบทางด่วนรามอินทรา ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 62 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 22 เม.ย. 62 ที่ผ่านมา พบว่า กระป๋องแก๊สที่ระเบิดไม่มีการแสดงฉลากภาษาไทย เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตัวกระป๋องทำด้วยอะลูมิเนียม มีความจุประมาณ 0.5 ลิตร น้ำหนัก 250 กรัม จัดอยู่ในขอบข่ายมาตรฐานกระป๋องแอโรซอล มอก. 974-2533 ซึ่งต้องใช้เพียงครั้งเดียว โดยไม่สามารถนำมาบรรจุซ้ำแล้วนำกลับมาใช้งานใหม่ได้
และจากการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดระเบิด มาจากการใช้งานผิดประเภท โดยนำกระป๋องแอโรซอลที่ออกแบบไว้สำหรับบรรจุแก๊ส ไม่ไวไฟและทนความดันต่ำ (23 psi) มาเติมแก๊ส LPG ซึ่งมีความดันสูง (100-130 psi) และเมื่อใช้เป็นเวลานาน มีความร้อนต่อเนื่องกัน จึงเป็นเหตุให้กระป๋องเกิดระเบิด
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าร้านหมูกระทะมักนิยมนำกระป๋องแก๊สเก่ามาเติมใหม่ โดยการเติมแก๊ส LPG ซึ่งเป็นแก๊สที่มีความดันสูง เมื่อเกิดระเบิดอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
นายวันชัย กล่าวว่า ถังที่ใช้สำหรับบรรจุแก๊ส LPG ที่ใช้ความดันสูงได้นั้น ต้องเป็นถังที่ได้มาตรฐาน มอก. 27-2543 มาตรฐานถังแก๊สปิโตรเลียมเหลว ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ผู้ใดจะทำหรือนำเข้า ต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก่อนเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่สำคัญของมาตรฐานถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวนี้ ได้แก่ ตัวถังต้องทำจากเหล็กกล้าเนื้อแน่น ทนความดันได้สูง มีอุปกรณ์นิรภัยควบคุมความปลอดภัยในการใช้งาน มีความจุตั้งแต่ 1 ลิตร – 500 ลิตร ฯลฯ จึงขอเตือนผู้ประกอบการว่าอย่าได้นำกระป๋องแก๊สที่ใช้แล้วมาบรรจุแก๊ส LPG ซ้ำโดยเด็ดขาด เมื่อเกิดระเบิดอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
สำหรับผู้บริโภคหากจะรับประทานหมูกระทะ ก็ให้เลือกจากร้านที่ใช้เตาถ่าน หรือหากใช้เตาไฟฟ้าก็ต้องเป็นเตาไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มอก. เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และจากการตรวจร้านหมูกระทะที่ตลาดนัดเลียบทางด่วนรามอินทรา และตลาดหัวมุม พบว่าทั้ง 2 ตลาด ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาใช้เตาถ่านเกือบทั้งหมดแล้ว.