ครม.ไฟเขียว “PCA” ความร่วมมือไทย-ยุโรป
ครม.เห็นชอบร่างกรอบเจรจา “ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนรอบด้านสหภาพยุโรป-ไทย”
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้เป็นกรอบในการเจรจากับฝ่ายสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การจัดทำกรอบความตกลงกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างกันในอนาคต
ร่างกรอบเจรจาฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน 2.ยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดและครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น 3.ส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก 4)แสดงเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของสหภาพยุโรป โดยจะดำเนินการภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ อาทิ 1.ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจการคลังอื่นๆ เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.ความร่วมมือด้านเสรีภาพ ความมั่นคงและการยุติธรรม เช่น ความร่วมมือด้านนิติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และ 3’ความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
นางสาวรัชดากล่าวว่า กลไกในการติดตามภายใต้ร่างกรอบเจรจา จะขับเคลื่อนโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ระหว่างฝ่ายไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนและพิจารณาการปฏิบัติตามการตีความ ตลอดจนกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ขอบเขตของกรอบความตกลงฯ ซึ่งการระงับข้อพิพาทนั้น จะกระทำตามหลักสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อหาทางออกที่เห็นพ้องต้องกันภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วม
“เมื่อกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับไทยผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปอย่างมีแบบแผนในระยะยาว อันจะนำไปสู่การเจรจาความตกลงหรือพิธีสารทวิภาคีเฉพาะอื่น ๆ ระหว่างกัน เช่น ความตกลงการค้าเสรีความตกลงด้านการลงทุน และพิธีสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านศุลกากรด้วย แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เมื่อถึงขั้นตอนลงนามข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อน” นางสาวรัชดากล่าว