หนี้สินครัวเรือนยังทะลุเกิน 90% จีดีพี
สภาพัฒน์ฯ ชี้ภาวะหนี้สินครัวเรือน ไตรมาส4 ปีที่แล้ว มีแนวโน้มชะลอตัว คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.1% ขยายตัวเพียง 3.9% จากไตรมาสที่ 3 ปีที่แล้ว ขยายตัวถึง 4.2% เนื่องจากคนไทยก่อหนี้ซื้อบ้านลดลง แต่ยังติดตามสถานการณ์โควิดอย่างใกล้ชิด หลังคนมีรถเสี่ยงหมดเงินผ่อนชำระหนี้ในอนาคต
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน หนี้สินครัวเรือนไตรมาส4 ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลง จาก 4.2% ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพี ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5% จาก5.8% ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% จาก 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก 0.3% ในไตรมาสก่อน จากมาตรการส่งเสริมการขายในช่วง Motor Expo สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 1.6% จากการหดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อและลิสซิ่ง ที่ขยายตัวมากถึง 21.6% ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 143,000 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อน 4% หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73% โดยคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ แต่ยังต้องเฝ้าระวังเอ็นพีแอลในสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวม สูงถึง 11.08% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 130,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก 1.ครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ 2.รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก และ3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้