ธพส.จ่อเป็น “PMC ภาครัฐ” พร้อมเปิดเกมรุกธุรกิจ
ธพส.ยุค “นาฬิกอติภัค แสงสนิท” พร้อมเดินหน้าเชิงรุก “บริหารสินทรัพย์แผ่นดิน” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย จ่อตั้ง “บริษัทลูก” รับบทบาท “PMC ภาครัฐ” หากบอร์ดฯไฟเขียว เผยศูนย์ราชการ โซน C ได้ที่ปรึกษาฯแล้ว ตั้งเป้า ก.ย.-ต.ค.นี้ ลงเสาเข็ม คาดแล้วเสร็จปี’66
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับ “กรรมการผู้จัดการคนใหม่” ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หลังจาก พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ได้ผ่านการคัดสรรและเข้าดำรงตำแหน่งนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา
กับโครงการที่ถูกจับตามองมากที่สุด นั่นคือ โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการ อาคารสำนักงาน โซน C ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 6.6 แสนตารางเมตร มูลค่าโครงการรวมเฉียด 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของส่วนราชการ 14 แห่ง โดยคาดว่าจะโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2566 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า
ล่าสุด ดร.นาฬิกอติภัค ระบุว่า โครงการมีความคืบหน้า กระทั่ง สามารถสรรหาบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ราว 18-19 เม.ย.นี้ ธพส.จะได้ลงนามจัดซื้อจัดจ้างฯต่อไป จากนั้น จะได้ดำเนินการจัดจ้างผู้ออกแบบโครงการ รวมถึงจัดจ้างที่ปรึกษามาคอยคุมงานก่อสร้างของโครงการฯ ซึ่ง ธพว.จะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยมีความถูกต้องและครบถ้วนของกระบวนดำเนินงาน คาดว่าจะสามารถเริ่มลงมือตอกเสาเข็มได้ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.ที่จะถึงนี้
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการ อาคารสำนักงาน โซน C นี้ ธพส.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงการ ผ่านการระดมทุนค่าก่อสร้าง โดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) และบริหารโครงการทั้งหมด
“ขณะนี้มีส่วนราชการแสดงความจำนงขอเข้าใช้พื้นที่เต็มแล้ว จากนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรประโยชน์จากพื้นที่ ขณะเดียวกัน กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ก็จะได้ทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณเกี่ยวกับสัญญาเช่าผูกพันล่วงหน้า 30 ปีของส่วนราชการเหล่านั้น เพื่อที่ ธพว.จะได้ทำธุรกรรม Securitization ในโอกาสต่อไป ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อดูความเหมาะสมในช่วงเวลาการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ธพว.เองก็จะต้องดูจุดและช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าควรจะทำ Securitization ในปีไหน เพราะการเร่งดำเนินการหรือปล่อยให้เกิดความล่าช้าเกินไป อาจเสี่ยงต่อภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จน ธพว.ต้องแบกรับต้นทุนที่แพงขึ้น หรือไม่ก็เสียโอกาสการดำเนินธุรกิจ จึงจำเป็นจะต้องหารือกันเพื่อกำหนดช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสมที่สุด เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด โดยที่ไม่เกิดสภาวะ “สภาพคล่องล้นระบบมากเกินไป” และทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามแผนงาน” กรรมการผู้จัดการ ธพส. คนใหม่ย้ำ
เขายอมรับว่า การมาเข้ามาบริหารงานในช่วงที่บอร์ดของ ธพส.ได้กำหนดแผนงานของปี 2562 ไปแล้วนั้น จากนี้ คงทำได้เพียงแค่ดำเนินการและควบคุมงานให้เดินหน้าภายใต้แผนงานข้างต้น แต่นับจากปี 2563 เป็นต้นไป จนครบวาระ 4 ปี เขาคงมีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดแนวทางดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ของ ธพส.
“ยังมีอีกหลายโครงการที่ ธพส.จะต้องดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์การประชุมที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งขณะนี้ มี 3 ทำเลให้เลือกใช้ โดยอยู่ระหว่างการหารือและตัดสินใจเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป” ดร.นาฬิกอติภัค ระบุ และว่า
นอกจากนี้ ยังมี 2 โครงการนำร่อง ที่อาจกลายเป็น “ต้นแบบ” ให้ธพว.ได้นำเอาไปเป็นแนวทางการดำเนินงานในอนาคต คือ การสร้างอาคารสำนักงานให้ส่วนราชการได้เช่าใช้ ในแบบที่ ธพว.ลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด บนพื้นที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการเหล่านั้นได้ของเข้าใช้งานอยู่ก่อนแล้ว หรือลงทุนก่อสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์
โดยรูปแบบแรกนั้น ธพส.เตรียมจะลงทุนก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น พื้นที่รวมราว 9,900 ตารางเมตร บนพื้นที่ราชพัสดุของกรมสรรพสามิต (ราชวัตร) จากนั้นจะได้ทำสัญญาการเช่าใช้พื้นที่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ และอีกรูปแบบคือ การสร้างอาคารสำนักงานบนพื้นที่ราชพัสดุ (จ.ปทุมธานี) เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมได้เช่าใช้ สำหรับปลูกกัญชาเชิงการแพทย์
“ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใด หรืออาจเป็นไปทั้ง 2 แบบพร้อมกัน ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ ธพว.จะได้เรียนรู้เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคต พร้อมกับวางตำแหน่งตัวเองใหม่ ซึ่งหากนโยบายของบอร์ด ธพว.กำหนดให้ต้องดำเนินการเชิงรุก เช่น ให้ ธพส. เป็น “ที่ปรึกษาบริหารโครงการ (PMC) ภาครัฐ” ให้กับส่วนราชการต่างๆ ก็จำเป็นจะต้องพัฒนาบุคลากรรองรับการดำเนินงานในครั้งนี้ หรืออาจตั้ง “บริษัทลูก” ขึ้นมาเพื่อสานต่อการดำเนินงานเชิงรุก ซึ่ง ธพส.สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากจัดตั้งเป็น “บริษัทจำกัด” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ของกระทรวงพาณิชย์ มาตั้งแต่ต้นแล้ว” กรรมการผู้จัดการ ธพส.ระบุ
สำหรับการจัดส่งรายได้เข้ารัฐนั้น ในปี 2561 ที่ผ่านมา ธพส. สามารถจัดส่งรายได้ราว 275 ล้านบาท หรือ 40% ของรายได้ทั้งหมด ผ่านไปยังกระทรวงการคลัง ส่วนปี 2562 คาดว่าตัวเลขจัดส่งรายได้คงไม่ห่างกันมากนัก ทั้งนี้ ขึ้นกับว่า ธพส.สามารถจะลงทุนในโครงการต่างๆ และมีส่วนรับรู้รายได้มากแค่ไหน.