สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 พ.ค. 65
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักมากบางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชัยนาท (110 มม.) จ.เชียงใหม่ (100 มม.) และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (93 มม.)
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,855 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,068 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) ภาคตะวันออก (1 แห่ง)
กอนช. ติตตามหน่วยงานดำเนินการเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
กรมชลประทาน
ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ
กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานจังหวัด ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ
เตรียมการจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักรกล เครื่องมือต่าง ๆ ประจำอยู่ที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกล จำนวนรวม 5,382 หน่วย เพื่อพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศตลอดช่วงฤดูฝน
กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมบุคลากร และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน พร้อมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อรองรับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งส่งหน่วยปฏิบัติงานเร่งด่วน (Best) เฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วม
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2565 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 10 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565 โดยติดตั้งและตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ ตามบ่อสูบน้ำต่าง ๆ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ พร้อมทั้งตรวจสอบและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง ให้พร้อมใช้งาน และลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อรองรับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ วันที่ 10 พ.ค. 65 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง และยังคงมีฝนตกต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน เนื่องจากพายุไซโคลน “อัสนี” ที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงแล้ว และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 11 – 15 พ.ค. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,855 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,068 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,329 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,459 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 9,937 ล้าน ลบ.ม. (40%) โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย
5. มาตรการและการให้ความช่วยเหลือ
กองบัญชาการกองทัพไทย นำกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมรถตรวจการณ์ และรถวางสะพาน เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเหตุน้ำป่าไหลหลาก โดยได้ดำเนินการเชื่อมต่อคอสะพานที่ขาด ระหว่างตำบลปากหมาก อำเภอไชยา และ ตำบลปากฉลุย อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก