ส.อ.ท.มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นหลังกังวลไวรัสโควิดลดลง
ส.อ.ท. คาดแนวโน้มอุตสาหกรรมทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เชื่อผลจากฉีดวัคซีน อุตฯ เร่งปรับตัว รองรับพฤติกรรม New Normal
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สำรวจแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะกลุ่มอุตสาหกรรม ปี 2565 โดยพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัว เมื่อเทียบกับปี 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการส่งออกที่เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงมีความกังวัลกับการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้ง ผลกระทบจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และเร่งอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นจนส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กล่าวว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่เพิ่มขึ้น แต่ด้วยการบริหารจัดการการแพร่ระบาดฯ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ Lockdown และปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึง ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่มีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการส่งออกสินค้าที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้โดยผ่านมาตรการ Test and Go อีกทั้ง การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี และงบรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ในระยะต่อไป
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้ มีทั้งหมด 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, ดิจิทัล, น้ำตาล, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม, ยา, ยานยนต์, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, สมุนไพร, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, หัตถกรรมสร้างสรรค์, เหล็ก, และอาหาร ปัจจัยสนับสนุนมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่มีทิศทางดีขึ้น การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การส่งออกที่ยังเติบโตได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นโยบายการเงินที่ยังมีทิศทางผ่อนคลาย และการใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้า FTA ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โอกาสที่จะเกิดการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ราคาพลังงานราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัว มีทั้งหมด 20 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ก๊าซ, การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, แกรนิตและหินอ่อน, แก้วและกระจก, เคมี, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องสำอาง, เซรามิก, น้ำมันปาล์ม, ปิโตรเคมี, ผลิตภัณฑ์ยาง, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลาสติก, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, สิ่งทอ, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, อลูมิเนียม, อัญมณีและเครื่องประดับ ปัจจัยสนับสนุนสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว โดยเป็นไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงและความกังวลทั้งโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำจากการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ราคาพลังงานราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร จึงเป็นปัจจัยที่ยังกดดันให้หลายกลุ่มอุตสากรรมยังมีทิศทางทรงตัว
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีทิศทางที่สามารถเติบโตต่อไปได้ แม้ในปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้เร่งปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน พร้อมกับรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างทัดเทียมและเติบโตต่อไป