ก.อุตฯ เร่งระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่าน QR Code
ก.อุตฯ เร่งให้บริการชำระค่าธรรมเนียมโรงงานผ่าน QR Code คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน พร้อมพลิกโฉมสำนักงานอุตสาหกรรมฯ เป็นราชการ 4.0 ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการติดต่อราชการ
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายให้เร่งปรับปรุงการให้บริการประชาชนโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ นำร่องด้วยการพัฒนาบริการชำระเงินผ่านระบบ QR Code ให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ ยกระดับเป็นราชการ 4.0 หรือ Smart Office 4.0 เริ่มต้นจากการนำระบบ Bar code มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลโรงงานทั้งหมด ประเมินผู้ประกอบการในภูมิภาคกว่า 90,000 รายจะได้รับประโยชน์ฯ
นายสุรพล กล่าวว่าขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ QR Code ในการรับชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด จากเดิมผู้ประกอบการต้องเดินทางมาชำระค่าธรรมเนียม ณ ช่องทางส่วนราชการตามที่กระทรวงฯ กำหนด เช่น สอจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยโรงงานขนาดเล็กในอำเภอที่อยู่ห่างไกล อาจมีภาระในการเดินทางไปชำระเงินเพียงไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันบาท กระทรวงฯ จึงได้พัฒนาช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลาย สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง เพิ่มความโปร่งใส ลดการติดต่อและการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การส่งหนังสือพร้อมแนบใบแจ้งชำระค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ โดยมี QR Code ด้านท้าย เพื่อสามารถสแกนชำระเงินได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และธนาคาร คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน
สำหรับการเตรียมความพร้อมของระบบงานภายใน (Back Office) เช่น การประสานกับสถาบันทางการเงิน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรงงานที่ถูกต้องครบถ้วน ปัจจุบันกระทรวงฯ ได้ออกบันทึกสั่งการให้ สอจ. ตรวจสอบและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลโรงงานเพื่อการเชื่อมโยงและสามารถที่จะแจ้งเตือนโรงงานที่ค้างชำระค่าธรรมเนียมได้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว
ในส่วนของการพัฒนา สอจ. ให้ราชการ 4.0 หรือเป็น Smart Office 4.0 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้เริ่มนำระบบ Bar code มาใช้ในการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลโรงงาน ซึ่งจะขยายผลไปยัง สอจ.ทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการติดต่อราชการได้อย่างน้อย 10-30 นาที ทำให้บริการผู้ประกอบการได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาอาจประสบปัญหาในการสืบค้นข้อมูล เนื่องจากเก็บเป็นเอกสารในแฟ้มข้อมูลโรงงานจำนวนมาก ในจังหวัดใหญ่ บางแห่งมีถึง 4,000 – 5,000 แฟ้ม ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนงานขยายผลที่จะไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่น การออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) การเงินและพัสดุ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ กระทรวงฯ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น โดยยึดประชาชนและผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และมีความทันสมัย ซึ่งแผนการพลิกโฉม สอจ. ทั้ง 76 จังหวัดดังกล่าว เป็นหนึ่งในการพัฒนาหน่วยงานในภูมิภาคให้เข้าสู่ส่วนราชการ 4.0 ของกระทรวงฯ โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่ 1) การสานพลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 2) การสร้างนวัตกรรม และ 3) การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล