บสย.ดัน“3 เติม”ช่วยคนจนเข้าถึงเงินกู้-ดบ.ต่ำ
บสย. เดินแผน “3 เติม” ช่วยผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยยุติธรรม ผ่านเงินอุดหนุนจากรัฐ 2 หมื่นล้าน เผยพร้อมขยายกลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆ นอกเหนือจาก “พี่วิน” มั่นใจหากดึงทุกฝ่ายร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหานี้ ไม่เพียงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากยังเติมเต็มระบบเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งอีก
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คือ องค์กรที่จะต้องดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และเป็น“สะพานเชื่อม” ที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงกลุ่มคนจนและผู้มีรายได้น้อย ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายขึ้น และมีอัตราดอกเบี้ยที่ยุติธรรม
ล่าสุด ตามแนวทางการดำเนินงาน “บสย. 4.0” นั้น ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า พร้อมจะใช้อาวุธภายในที่ บสย. มี ผ่านโครงการของรัฐบาลที่เรียกว่า “ไมโคร 3” คือ การที่รัฐบาลสนับสนุนวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้กับคนกลุ่มนี้ โดยปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนวงเงิน 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บสย.ได้นำวงเงินดังกล่าวเข้าไปแก้ไขปัญหาข้างต้น ผ่านแนวทาง “3 เติม” ซึ่งเติมแรกคือ การ “เติมทุน” โดยพูดคุยกับธนาคารพันธมิตร ทั้ง 8 ธนาคารของรัฐ และอีกกว่า 10 ธนาคารพาณิชย์ ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งทุน เช่น โครงการ “บสย.รักพี่วิน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากถึงกว่า 200,000 คน ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประจำ มีรายได้ไม่คงที่ และไม่มีสลิปเงินเดือน ซึ่งเป็นปัญหาหลักทำให้ธนาคารไม่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้น โครงการนี้ จึงช่วยให้ผู้ประกอบการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (พี่วิน) ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมี บสย.เป็นผู้ค้ำประกัน และธนาคาร ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยง
ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ดี ดังนั้น บสย.จึงต้อง “เติมความรู้” ตามมา เพื่อให้พวกเขาได้บริหารรายได้ที่มีในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งแบ่งจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและของครอบครัว ส่วนหนึ่งอาจจะกันเอาไว้เพื่อดำเนินธุรกิจอื่นๆ และที่สำคัญจะต้องสำรองเอาไว้เพื่อจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ สิ่งเหล่านี้จำเป็นที่บสย.จะต้องให้ความรู้แก่คนกลุ่มนี้
นอกจากนี้ ยังต้องเติมตัวสุดท้าย คือ การ “เติมจิตสำนึกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” เพื่อสร้าง “สังคมสีขาว” โดยอาศัยเครือข่าย “พี่วิน” เข้ามาช่วยเหลือ ดูแลสังคมไปด้วยกัน ด้วยการเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นการสร้าง “สังคมเอื้ออาทร” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
“นอกจากกลุ่มพี่วินแล้ว เราเตรียมจะขยายตัวไปยังกลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างประปา หรือทำอย่างไรให้ชาวนาผันอาชีพตัวเองผ่านกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยทั้งหมดล้วนอยู่ในแผนของการเดินหน้าธุรกิจของ บสย. 4.0 ในปีนี้” ดร.รักษ์ย้ำและว่า บสย.พร้อมจะปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ปรับพันธกิจใหม่ให้กระชับและสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
ดร.รักษ์กล่าวว่า บสย.ทำคนเดียวไม่ได้ ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยกัน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งที่เป็นของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากสามารถบูรณาการร่วมกันได้ จนทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ได้มีโอกาส มีอนาคต ถึงวันหนึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มให้กับระบบเศรษฐกิจไทย
“หากคนตัวเล็กเหล่านี้เติบโตและเดินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็จะทำให้กลุ่ม SMEs ไทย ที่มีกว่า 2.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย 4 ล้านราย และ 5 ล้านรายในอนาคต จีดีพีที่คิดเป็นสัดส่วน 40% ของ SMEs ไทย ก็อาจขยายตัวมากขึ้น ถ้าเราสร้างความเจริญรุ่งเรืองและการเติบโตในทุกภาคส่วน เชื่อว่าการเดินหน้าในอนาคตของประเทศก็มีความหวังรออยู่” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ย้ำสรุป
อนึ่ง โครงการ “ไมโคร 3” ที่รัฐบาลสนับสนุนวงเงินค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 20,000 ล้านบาทแก่ผู้มีรายรายได้น้อย ผ่าน บสย. จะดำเนินงานจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63 อย่างไรก็ตาม หากสิ้นสุดโครงการแล้วยังมีวงเงินเหลืออยู่ บสย.ก็อาจเสนอต่ออายุโครงการต่อไปได้อีก.