“ญี่ปุ่น” สนใจปักหมุด “ธุรกิจการแพทย์” ในอีอีซี
กนอ.โรดโชว์ โอซากา ชู ศักยภาพนิคมฯไทย ภายในงานแสดงสินค้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ครบวงจร “Medical Device 2019” นักลงทุนเชื่อมั่นนโยบายรัฐบาล เล็งปักหมุดลงทุนกิจการการแพทย์ในอีอีซี
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้เข้าร่วมงานส่งเสริมการลงทุน Medical Device 2019 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17-23 ก.พ.2562 ที่ผ่านมา เพื่อชักจูงผู้ประกอบการ นักลงทุน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นมาลงทุนยังประเทศไทยเนื่องจากกิจการการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S- Curve) ที่รัฐบาลไทยส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนของญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซีเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตในอนาคต
“ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบริษัทชั้นนำที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์อยู่ค่อนข้างมาก และนักลงทุนชาวญี่ปุ่นต่างยืนยันว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมที่สุดในการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลไทยมีนโยบายที่ให้การสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการส่งออก (Medical Hub) ภายใน ปี 2563 ดังนั้นพื้นที่การลงทุนของไทยจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนต่อไป” ดร.สมจิณณ์กล่าว
ทั้งนี้ กนอ.ยังได้มีการแนะนำโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายของภาครัฐที่ กนอ.ได้รับมอบหมายโดยเฉพาะโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จังหวัด ระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ในอีอีซีที่จะรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมไปถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน 1 ใน 5 โครงการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และสินค้าเหลวอื่นๆ ซึ่งได้รับการสอบถามรายละเอียดจากนักลงทุนค่อนข้างมาก และนักลงทุนต่างก็เชื่อมั่นในศักยภาพของอีอีซีว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้
ดร.สมจิณณ์ กล่าวเพิ่มว่า นอกจากการนำเสนอโครงการต่างๆแล้ว กนอ.ยังได้นำเสนอพื้นที่นิคมฯอื่นๆที่มีศักยภาพที่พร้อมรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ เช่น นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมสะเดา จังหวัดสงขลา และ นิคมอุตสาหกรรมแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อให้นักลงทุนเห็นศักยภาพของพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนที่มีศักยภาพในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและเป็นพื้นที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังภูมิภาคมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้น กนอ.และคณะฯยังได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ Kobe Biomedical Innovation Cluster :KBIC และเข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์ RIKEN Center for Computational Science (R-CCS)) รวมถึงการเข้าศึกษาดูงานของบริษัท OMRON Kyoto Taiyo Co.,Ltd เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมไทย เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต