‘สศช.’ เผยจีดีพีปี64 ขยายตัว 1.6%
สภาพัฒน์ เผยตัวเลขจริงเศรษฐกิจไทยปี64 ขยายตัว 1.6% ดีกว่าที่คาด เนื่องจากรัฐบาลเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด ทำให้การบริโภคภายในประเทศดีขึ้น ขณะที่รัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณยิ่งหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว ส่วนปีนี้ คาดเศรษฐกิจขยาย 3.4-4.5% ด้าน สศค.แย้มพร้อมคุย สศช.เรื่อง เพิ่มความสามารถในการหารายได้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ เริ่มมีการ ฟื้นตัวที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปี2565 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวช่วงระหว่าง 3.5-4.5% โดยได้รับปัจจัยบวกจากการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีดีพีไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.9% ส่งผลให้ตลอดทั้งปี2564 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโต 1.6%
“ทิศทางของเศรษฐกิจไทย เริ่มดี หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการโควิดลง ทำให้การบริโภคภายในประ เทศ การท่องเที่ยว การขยายตัวของสินค้าส่งออกและการลงทุนภาครัฐ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวดีกว่าปีที่แล้ว และดีกว่าปี2563 ที่ติดลบ 6.2%”
ส่วนการใช้เงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิดในปี2563 เบิกจ่าย 196,000 ล้านบาท และในปี2564 มียอด 274,000 ล้านบาท รวม 2 ปี รัฐบาลได้ใช้จ่ายไปแล้ว 460,000 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวมาจากหลายหน่วย งานทั้งจาก พ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท, งบกลางและงบประมาณของหน่วยส่วนอื่น ๆ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มาจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ทั้งหมด
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดย สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีที่แล้ว ขยายตัว 1.2% ล่าสุด สศช.ระบุว่า ขยายตัว 1.6% และปีนี้ ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4% ถือว่า ดีกว่าปี2563 และปี2564 แต่สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้คือ ความสามารถในการหารายได้ของประชาชนเป็นประเด็นที่ทาง สศช.เป็นห่วง เพราะความสามารถในการหารายได้ลดลงจะส่งผลกระทบภาระหนี้ ส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับ 89.3% ของจีดีพีนั้น สศค.ไม่ได้กังวลใจมากนัก เพราะเป็นหนี้สะสมที่เกิดการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ และเงินกู้เพื่อการลงทุนรวมแล้วมากกว่า 65% ส่วนที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีเพียง 2.8-2.9% เท่านั้น