สมคิด ชี้ การเมืองหยุดทะเลาะ ศก.โตทะลุเป้า
สมคิด มั่นใจ หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. รัฐบาลใหม่เดินหน้านโยบายต่อเนื่อง ไม่มีการทะเลาะกันเกิดขึ้นอีก เชื่อว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้โตทะลุ 4.1% แน่นอน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ยอมรับช่วงใกล้เลือกตั้งข้าราชการเกียร์ว่าง ดังนั้นครึ่งแรกของปี 2562 นี้จะเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่มีพลัง เพราะทุกคนหยุดดู การลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็หยุดดู การขับเคลื่อนก็ไม่มีพลังเหมือนปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะประคองครึ่งปีนี้ให้ผ่านไปได้
“หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ ถ้ามีสัญญาณความต่อเนื่องของนโยบาย ผมเชื่อว่าครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะไปได้ต่อเนื่องแน่นอน เพราะเรามีโครงการลงทุนอยู่ในมือ ซึ่งตอนนี้ทั้งกดทั้งอัดทั้งดันโครงการท่าเรือมาบตาพุด/แหลมฉบัง สนามบินเป็นการตอกย้ำว่าอีอีซีได้เกิดแล้ว การส่งออกครึ่งปีหลังก็ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าครึ่งปีแรก การบริโภคภายในก็จะดีขึ้น การผลิตภาคอุตสากรรมขยายตัว การท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่น เมื่อทุกภาคส่วนมั่นใจขึ้นรับรองว่าเศรษฐกิจไปได้แน่นอน”
ขณะเดียวกัน พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยปี 2561 ปีที่ผ่านมาเติบโต 4.1% มีเงินสำรอง 2.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะกว่า 40% เงินเฟ้อ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลชำระเงินเกินดุล ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 3 ไตรมาส 8.7 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 11% กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลท. 8 แสนกว่าล้านบาท เติบโต 16% กำไรสุทธิ 7 แสนกว่าล้านบาท
ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและท่ามกลางการส่งออกที่ถดถอยเช่นนี้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังโตได้ขนาดนี้แสดงว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี ถ้าแบบนี้ไม่ดีแล้วอย่างไรจึงเรียกว่าดี ลองนึกย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรดีบ้าง ที่ผ่านๆ มาทำอะไรถึงจะได้เท่านี้ เรามัวเสียเวลาตีกันตั้ง 6-7 ปี นี่เป็นครั้งแรกธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ชมเชยเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี มีความสมดุลสามารถประคับประคองภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะต้านปัจจัยลบได้
นายสมคิด กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินต้องไหลเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนามที่สู้ไทยไม่ได้อยู่แล้ว ถามว่าใครปั่นให้ค่าเงินแข็งค่าหรือไม่..ไม่ใช่ แต่ค่าเงินบาทสะท้อนความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เพราะไทยมีความสงบและมีเสถียรภาพเป็นสวรรค์ของนักลงทุน
โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ประกอบการไม่ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แบบนี้จะให้ ธปท. แทรกแซงเช่นนั้นหรือ? ต้องยอมรับว่าได้อย่างก็เสียอย่าง จะได้ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย
“ถ้าเรามัวแต่บอกว่าค่าเงินบาทถูก แต่ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพ ไม่ปรับเปลี่ยน ไม่พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ไม่ได้ หน้าที่ของ ส.อ.ท.ไม่ใช่ต่อรองรัฐบาล แต่จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมของประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่ 4.0 ต้องไปหาทางร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาช่องทางและเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ถ้าคิดมีเดินขบวนเผาเมืองเมื่อไหร่ รับรองว่าเงินบาทได้กลับไป 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแน่นอน เอาไหมล่ะ”
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีไทยน่าเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่มีการปรับตัวโดยเฉพาะโชห่วย ถ้าไม่ช่วยกันรับรองได้อีก 5 ปีจะไม่เหลือโชห่วยให้เห็นแล้ว ในส่วนของภาคการเกษตรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มีต้นทุนที่ต่ำลง โดยนำเทคโนโลยีและการวิจัยมาใช้ เน้นพัฒนาเรื่องการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร เชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ามาเสริมจึงจะอยู่ได้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4.1% หากรัฐบาลใหม่มีการลงทุนต่อเนื่อง ไม่มีการทะเลาะกัน นักลงทุนก็จะเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่สานต่อจากรัฐบาลเก่า โดยเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 จนถึงปัจจุบันจะแข็งค่าเร็วมาก จะสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในระยะสั้น เพราะเชื่อมั่น ธปท. ยังมีมาตรการดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมและรับได้ควรอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกในระยะยาว ซึ่ง ส.อ.ท.จะเข้าไปหารือกับธปท.เพื่อหารือแนวทางดูแลที่เหมาะสมต่อไป.