“เศรษฐพุฒิ” เผยเศรษฐกิจย่ำอยู่ที่เดิม
ผู้ว่าการธปท.ร่ายยาวบทเรียนเศรษฐกิจไทย ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ถือว่า ยังอยู่ที่เดิม หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยก้าวโลกดิจิทัล สร้างมุมมองใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เลิกหวังอุตสาหกรรมโบราณเช่น รถยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์และการท่องเที่ยว
นายเศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนาออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 40 ปี วารสารการเงินธนาคาร Thailand’s Next Move : Looking Beyond Covid-19 หัวข้อ “Looking Beyond Covid-19 : โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด 19” ว่า ในการครบรอบ 40 ปีนี้ เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะมองย้อนกลับไป ในบริบทของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่วารสารการเงินธนาคารเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งถือเป็น “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจไทย เพื่อนำมาเทียบกับบริบทปัจจุบัน และอาจให้มุมมองหลาย ๆ อย่างกับเราว่า เมื่อวิกฤตโควิด 19 ผ่านพ้นไป เรายังมีโจทย์ที่ท้าทายอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้ จะขอ focus ไปที่เรื่องว่า “Growth story” ของไทยจะเป็นอย่างไร
“ขอเริ่มจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือในช่วงทศวรรษ 1980 เรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของเศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงกว่า 10% ต่อปี โดย Growth story ของไทยที่ชัด คือ มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในภาคการผลิตเพื่อส่งออก มีการลงทุนใน Eastern seaboard โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่ส่งผลให้ FDI ของไทยโตมากกว่า 100% ต่อปี หรือมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในตอนนั้นมากกว่าเวียดนาม 500 เท่า ส่วนการส่งออก อยู่ที่ปีละมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญ มากกว่าเวียดนาม 10 เท่า นอกจากนี้ ผลของ Plaza Accord ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาก ญี่ปุ่นจึงย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมยานยนต์จึงกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ และวิกฤตปี 40 ที่เงินบาทอ่อนค่า อย่างรุนแรง ทำให้การส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการท่องเที่ยว กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย โดยเริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสองหลักหรือเพิ่มขึ้นเกิน 10 ล้านคนต่อปี
“มาถึงวันนี้ 40 ปีผ่านไป โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคล้ายๆ เดิม ยังพึ่งพาการส่งออกในภาคเศรษฐกิจเดิม ๆ คือ ยานยนต์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว ขณะที่บริบทของโลกกลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิม”
โดยเห็นได้จาก ประการแรกการส่งออก ปัจจุบันเวียดนามแซงไทยไปแล้ว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวสูงกว่าไทย 6 เท่า และปีที่ผ่านมา ส่งออกได้มากกว่าไทยถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทย 60% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมโลกเก่า ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ หรือ market capitalization ในปัจจุบัน ก็สะท้อนว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 30% ยังอยู่ในหมวดพลังงาน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากนี้
สินค้าไทยยังไม่ “eco-friendly” จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น รถยนต์สันดาปที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่จะถูกกระทบจากกระแสการลด carbon ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของการส่งออกรวมของไทย
ประการที่สอง FDI เวียดนามแซงหน้าไทยไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ปี 57 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา FDI ของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดย FDI ของไทยที่ลดลงนี้เป็นผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งด้านต้นทุนและคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางการค้า
และประการสุดท้าย ภาคการท่องเที่ยว มีโอกาสต้องใช้เวลานาน ที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น การจะหวังพึ่งรายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงย่อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง over-tourism ซึ่งล่าสุด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวของ World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อม ไทยอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 140 ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่ชัดเจนจากรูปแบบการท่องเที่ยวเดิม ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น หากไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ เราอาจเห็นเศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อย ๆ ลองคิดง่าย ๆ ว่า GDP หรือผลผลิตโดยรวมของประเทศมาจากอะไร ก็มาจากจำนวนแรงงานที่มี คูณด้วยผลผลิตของแรงงานนั้น ๆ ถ้าเราดูอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะมาจากอัตราการเติบโตของแรงงานที่เรามีบวกกับอัตราการเติบโตของผลผลิตของแรงงานนั้น หรือที่เรียกกันว่า labor productivity ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Labor productivity โตปีละประมาณ 4% แต่ถ้ามองไปใน 10-20 ปีข้างหน้า จำนวนแรงงานของไทยจะลดลงมาเป็นปีละ -1% หากเราไม่ปรับในเรื่องของประสิทธิภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียงปีละ 3% ก็คือ -1% บวก 4% และแนวโน้มมองไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานต่าง ๆ ขณะที่สังคมยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยไปเรื่อย ๆ ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จะยิ่งชะลอตัวลงจากจำนวนแรงงานจะหดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
คำถามคือ ถ้าเราไม่อยากเห็นภาพเช่นนี้ อยากจะรักษาศักยภาพการเติบโตของเรา เราจะต้องทำอะไร เราจะต้องโตอย่างไร โตแบบใคร
ประเทศไทยจะโตแบบเวียดนามได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะเวียดนามมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยราว 30 ปี ขณะที่ไทยมีประชากรไม่ถึง 70 ล้านคน และมีอายุเฉลี่ยถึงเกือบ 40 ปี รวมถึงค่าแรงของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อวัน เทียบกับไทยที่อยู่ที่กว่า 300 บาทต่อวัน นอกจากนี้ เวียดนามยังมี ความเชื่อมโยงทางการค้าผ่านการมี FTAs กับเกือบทุกคู่ค้าสำคัญ
และถ้าจะโตแบบเกาหลีใต้ ก็ยังไม่ใด้ เพราะเกาหลีใต้เน้นเติบโตด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และ creative economy จากการส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลก ทั้งอาหารและการแต่งกาย ผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ เทียบกับไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะยังเกิดขึ้นไม่เร็วนัก โดย Global Innovation Index ของเกาหลีใต้ที่อยู่อันดับ 5 ขณะที่ของไทยอยู่ที่อันดับ 43
แล้วสุดท้ายเราจะโตแบบไหน Growth story ของเราจะเป็นแบบไหน คำตอบคือ เราคงต้องโตแบบไทย โดยเน้นด้านที่ไทยมีศักยภาพในการต่อยอด โดยเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง ไทยมีความพร้อมทางด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปะหัตถกรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ บางเรื่องอาจดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ และ
ในภาพรวม ต้องปรับให้สอดคล้องกับกระแสใหม่อย่างทันการณ์ ซึ่งในระยะข้างหน้า จะมีอย่างน้อย 2 กระแสที่เข้ามากระทบการวาง Growth story อย่างแรก คือ กระแสดิจิทัลที่จะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกกระแสหนึ่ง คือ sustainability โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลเร็วและแรงกว่าคาด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ของประเทศพัฒนาแล้วในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน
ที่สำคัญ Growth story ข้างหน้า จะต้องเน้นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ inclusive growth เพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานต่อความท้าทายต่าง ๆ ได้มากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพใน 2 sector ที่จะรวมกระแสดิจิทัล และ sustainability ได้ชัดเจนขึ้น
ตัวอย่างแรกคือ ภาคเกษตรและอาหาร ที่เราเป็นฐานการผลิตสำคัญและถูกยกให้เป็นครัวของโลก ซึ่งถือเป็น “ทุน” ที่ดีในการต่อยอด แต่การส่งออกในหมวดนี้ เป็นสินค้าเกษตรพื้นฐาน หรือสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีรายได้ตํ่ามาโดยตลอด รวมถึงภาคเกษตรยังใช้ทรัพยากรสูงและมีการใช้สารเคมี ทำให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม Growth story ของไทยด้านนี้ จึงต้องเน้นยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า premium ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่ม productivity และความสามารถในการแข่งขัน ตั้งแต่การทำเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เพื่อช่วยลดต้นทุน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์และการใช้ Biopesticides จนถึงการมีแพลตฟอร์ม e-commerce เชื่อมเกษตรกรกับผู้ขายและผู้บริโภคโดยตรง และใช้ digital marketing ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ตลอดจนการผลิต future food ที่ใช้นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
อีกตัวอย่าง คือ ภาคท่องเที่ยว ที่รายได้เติบโตจากปริมาณนักท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งมีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ บางช่วงเวลา และบางจุดหมาย โดยเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพียง 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก จนกลายเป็นปัญหา over-tourism ไทยจึงต้องปรับโมเดลให้มีภูมิคุ้มกันในระยะยาว โดยเพิ่มรายได้ต่อหัวเพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลง ในการเพิ่มรายได้นี้ ไทยควรต่อยอดจากจุดแข็งด้านธรรมชาติ culture และ hospitality ให้รวมไปถึงการสร้าง high value man-made attraction และ experience ต่าง ๆ ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กลุ่ม health and wellness ที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึง 80,000-120,000 บาท นอกจากนี้
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น กลุ่ม green หรือ community-based tourism ที่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วย “สร้างและกระจาย” รายได้ สูงกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับโมเดลใหม่นี้ อาทิ การปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การลงทุนในระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์กระแส contactless รวมถึงการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์และต่อยอดให้ภาคท่องเที่ยวทั้ง value chain อย่างเช่น แพลตฟอร์ม TagThai ที่กำลังดำเนินการอยู่
และสุดท้าย ทำอย่างไร ให้ Growth story ที่จะเน้นการต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มบนจุดแข็งที่ได้กล่าวมาเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละภาคส่วนที่จะต้องเร่งทำบทบาทของตัวเอง และการร่วมมือกับคนอื่น ๆ ในการผลักดันการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ ให้สามารถรองรับความท้าทายได้ดีขึ้นในอนาคต
ในส่วนของภาครัฐ จะต้องปรับสู่โหมด facilitator ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ที่สนับสนุนและผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัว และเศรษฐกิจโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นบทบาทที่
ภาคส่วนอื่น ๆ ทำไม่ได้ โดยมีสองส่วน ส่วนแรก คือ การตั้งธง หรือวางทิศทางนโยบายให้ชัดเจน เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพเดียวกันและวางแผนปรับตัวได้ และมีกลไกสนับสนุน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนที่อาจต้องเพิ่มแรงจูงใจให้เร่งทำ ส่วนที่สอง คือการเร่งวางรากฐานเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและประชาชน เช่น การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ (Regulatory guillotine) การเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบคมนาคม digital infrastructure และระบบการศึกษา ให้สอดรับกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งขยายนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น FTA เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของไทยให้กับบริษัทข้ามชาติ (MNCs) และสามารถขยายตลาดส่งออกของเราได้ สำหรับภาคธุรกิจ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญใน Growth story ของไทย ที่จะตัดสินใจยกระดับธุรกิจ ปรับรูปแบบกิจการ หรือวางแผนลงทุนใหม่ โดยต้องให้น้ำหนักกับทั้งกระแสดิจิทัลที่ทำให้ธุรกิจต้องแข่งกันมากขึ้น และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานต่าง ๆ อย่างจริงจังและทันท่วงที เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพและความปลอดภัย ตัวอย่างที่ชัด คือ การปรับตัวเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีตาม carbon footprint บนสินค้าที่ส่งออกไป