บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ก่อประโยชน์ต่อ “เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว”
ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน!บริการเรียกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปฯ หรือ Ride Hailing ก่อประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พร้อมประสานเสียงกับภาคการเมืองเร่งเดินหน้าแก้ปัญหา หลังเจอปัญหา “คอขวด” เหตุเจ้าของรถฯ สนใจร่วมโครงการอย่างล้นหลาม ด้านภาคเอกชน แนะรัฐลดขั้นตอนให้ง่ายกว่านี้
งานเสวนา “อนาคต Ride Hailing หลังไทยเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานในมิติต่างๆ ประกอบด้วย ดร. ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก, ดร. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และ นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงลดปัญหาและอุปสรรคของการให้ “บริการเรียกรถยนต์โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน” หรือ Ride Hailing สำหรับเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งงานเสวนานี้ จัดโดย สำนักข่าว AEC10NEWS ในโอกาสครบรอบปีที่ 4 ก้าวสู่ปีที่ 5 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2464 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
ดร. ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ผู้แทนจาก depa กล่าวว่า แนวคิดของ Ride Hailing เป็นส่วนหนึ่งของโมเดล “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy ที่สอดรับกับกระแสสังคมโลกยุคใหม่ ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ depa ก็พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะผลักดันและกระตุ้นให้ประเทศไทยก้าวสู่ภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งคาดว่าปริมาณความต้องการเรียกรถผ่านแอปฯจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ เมื่อทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามกฎหมายของภาครัฐ ทั้งนี้ มีหลายประเทศได้นำแนวทางของ Ride Hailing มาใช้ และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 20 ของ GDP ดังนั้น การผลักดันให้เกิด Ride Hailing ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แต่ยังช่วยให้คนขับในจังหวัดท่องเที่ยวนั้นๆ มีรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นตัวเองได้อีก
ด้าน ดร. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็น เจ้าของนโยบาย Ride Hailing กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยได้หารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาตลอด ทราบว่าทางกระทรวงคมนาคมเอง ก็ได้เร่งดำเนินโครงการนี้จนมีความคืบหน้าในระดับที่น่าพอใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนฯของ ขบ. ตนก็จะช่วยประสานไปยัง รมว.คมนาคม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำได้โดยเร็ว เนื่องจากโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของพรรคฯ ที่ได้รับกระแสการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขในทันที นอกจากนี้ หากยังมีประเด็นปัญหาและอุปสรรคอื่นใดที่จะทำให้โครงการเกิดความล่าช้า พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมจะประสานงานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
“นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยจะเร่งหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ขับขี่ในกลุ่ม Ride Hailing ได้ “อัพสกิล” (เพิ่มทักษะ) จากเดิมที่เป็นแค่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสารธารณะ อาจจะยกระดับขึ้นเป็น “ไกด์” แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้โดยสาร เพื่อการต่อยอดอาชีพและสร้างรายได้ใหม่ ซึ่งหากภารกิจนี้ ภาคเอกชนไม่ทำ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องลงมาดำเนินการในทันที” ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ย้ำ
นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ตัวแทน กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ที่ผ่านมามา กรมฯได้เร่งดำเนินการออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 เป้าหมายเพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นั่นคือ การพิจารณาหลักเกณฑ์ที่กำหนดและพิจารณาให้การรับรองระบบแอปพลิเคชัน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้ผู้สนใจจะประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันมาขึ้นทะเบียนฯ แต่เพราะยังติดในเรื่องขั้นตอนและวีธีการที่ใช้เวลานาน ที่กลายเป็นปัญหาคอขวด นั่นคือ การทำใบขับขี่สาธารณะ, การตรวจประวัติอาชญากรรม และการสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อลดปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด
โดยขณะนี้ กรมฯกำลังพัฒนาระบบอบรมออนไลน์ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ก่อนจะเดินทางมาสอบใบขับขี่ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ทันภายในสิ้นปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ที่สนใจ แต่ระหว่างนี้ ผู้สนใจสามารถจะดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ควบคู่กันไปได้ เช่น ตรวจประวัติอาชญากรรม ก่อนนำรถยนต์ป้ายดำมาขึ้นทะเบียนฯที่กรมขนส่งฯ เชื่อว่าปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้การจัดอบรมฯเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงก่อนหน้านี้จะเบาบางลง และทำให้กระบวนการต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ ตัวแทนภาคเอกชน, นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหารจาก “แกร็บ ประเทศไทย” หนึ่งในแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน กล่าวว่า Ride Hailing จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม ให้กับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ทั่วประเทศหลายแสนคน คาดว่าจะสร้างมูลค่าตลาดประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะแอปพลิเคชันมีระบบแปลภาษาเพื่อช่วยให้คนขับสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้น มีการแสดงราคาล่วงหน้าก่อนให้บริการซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือมีระบบการให้คะแนนคนขับ ซึ่งช่วยรักษามาตรฐานการให้บริการโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมได้
“ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เราจึงต้องไปลงทะเบียนแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันก็ต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจนับแสนคนเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมาหารือเพื่อออกแบบกระบวนการร่วมกัน” นายวรฉัตร ระบุและว่า หากเป็นไปได้ บริษัทฯ อยากเสนอให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องขั้นตอนและการจัดการแบบพิเศษ ที่สามารถรองรับปริมาณของผู้ที่สนใจจำนวนมากในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้.