ดัชนีความเชื่อมั่น SME เพิ่มขึ้น ต่ำกว่าระดับค่าฐาน

สสว. เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจ SME แต่ยังต่ำจากระดับค่าฐานอยู่มาก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนกันยายน 2564 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม 2564 ที่ระดับ 31.9 มาอยู่ที่ระดับ 35.9 สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจ SME หลังวิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 เป็นผลจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ/เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการผ่อนคลายมาตรการให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ประชาชนมีความมั่นใจและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตามค่าดัชนี SMESI ยังต่ำจากระดับค่าฐาน (50) อยู่มาก บ่งชี้ปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นจากก่อนหน้าก็ตาม
องค์ประกอบของดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27.1 28.3 39.0 27.0 และ 43.5 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านต้นทุนปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 และดัชนี SMESI ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ในเดือนนี้เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาอยู่ที่ระดับ 35.7 38.5 และ 34.1 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 35.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 30.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเป็นสำคัญ และดัชนี SMESI ภาคบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน จากการเปิดให้บริการของสายการบิน และบริษัทขนส่งสาธารณะ ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ได้มากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาธุรกิจ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่พัก/โรงแรม และสาขาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 45.2 การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงสิ้นปีปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมาจากแนวโน้มสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่คลี่คลาย และมีการผลักดันมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ที่จะส่งผลต่อการออกมาจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมากขึ้นในช่วงสิ้นปี และผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวทางธุรกิจโดยเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศมากขึ้น และรอความชัดเจนจากภาครัฐในการเปิดรับลูกค้า/นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในอนาคต
ส่วนปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ประเทศในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ 2. ด้านการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ 3. ด้านต้นทุน 4. ด้านคู่แข่งขัน และ 5. ด้านหนี้สินกิจการ แม้ในเดือนปัจจุบันจะมีการออกมาใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งจากการชะลอตัวของธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงด้านความช่วยเหลือจากหน่วยงาน/ภาครัฐ และมีความกังวลด้านต้นทุนกิจการที่มีสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในหลายรายการ