เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2564
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2564 ร้อยละ 0.4 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.0
ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐชะลอลง และการส่งออกบริการลดลง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสแรกของปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนและปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 10.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะร้อยละ 33.9 การใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 8.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายกลุ่มบริการสุขภาพ กลุ่มการเช่าที่อยู่อาศัย การใช้น้ำประปา ไฟฟ้าและพลังงาน และกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คนทนขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 2.4 ส่วนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทน ลดลงร้อยละ 7.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 10.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าร้อยละ 15.3 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.8 จากระดับ 42.5 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่รายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.0 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 22.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมครึ่งแรกของปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.1 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.6 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 8.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือร้อยละ 12.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.2 การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 19.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 7.7 และร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 28.4 และร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่
ร้อยละ 19.1 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 19.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมครึ่งแรกของปี 2564 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ
ในด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 67,761 ล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงสุดเท่าที่มีการจัดเก็บข้อมูล) ขยายตัวร้อยละ 36.2 (สูงที่สุดในรอบ 44 ไตรมาส) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 89.1) รถกระบะ (ร้อยละ 190.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 102.2) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 24.6) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 37.6) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 40.0) ยางพารา (ร้อยละ 97.3) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 48.2) เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ปลากระป๋องและปลาแปรรูป (ลดลงร้อยละ 26.3) ข้าว (ลดลงร้อยละ 38.8)และน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 21.7) การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 33.6 รวมครึ่งแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 131,765 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 19.0 โดยปริมาณและราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 58,048 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ รวมครึ่งแรกของปี 2564 การนำเข้ามีมูลค่า 114,663 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 23.8
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ
ที่มา: CEIC รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ด้านการผลิต สาขาการผลิตอุตสาหกรรมและสาขาเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ และสาขาไฟฟ้าและก๊าซฯ กลับมาขยายตัว ขณะที่สาขาการก่อสร้างชะลอลง สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ดัชนีผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือก (ร้อยละ 10.2) ยางพารา (ร้อยละ 6.7) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 9.9) ส่วนดัชนีผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น กลุ่มไม้ผล (ลดลงร้อยละ 4.6) และอ้อย (ลดลงร้อยละ 5.9) ขณะที่หมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 14 ร้อยละ 2.6 และหมวดประมงลดลงร้อยละ 5.9 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 12.8 โดยสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
เช่น ยางพารา (ร้อยละ 59.0) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 27.4) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 76.7) อ้อย (ร้อยละ 30.3) และสุกร (ร้อยละ 11.3) ส่วนสินค้าเกษตรที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 18.9) และไข่ไก่ (ลดลงร้อยละ 0.9) การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 15.2 รวมครึ่งแรกของปี 2564 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 16.8 ตามการเร่งตัวขึ้นของการส่งออก ฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของอุปสงค์ในประเทศ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 20.4 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.21 ลดลงจากร้อยละ 67.44 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 52.81 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 147.4)การผลิตยางนอกและยางใน (ร้อยละ 98.9) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 25.3) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตปุ๋ยเคมี (ลดลงร้อยละ 30.7) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ลดลงร้อยละ 13.8) การผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง (ลดลงร้อยละ 17.7) รวมครึ่งแรกของปี 2564 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.9 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.32 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวจากฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 35.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยไตรมาสนี้มี รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.035 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 89.0 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 20,275 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8.24 ลดลงจากร้อยละ 16.15 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าร้อยละ 6.50 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2564 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 17.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 37.1 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงร้อยละ 99.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.20 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.7
ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมด้านการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร และเงื่อนไขการเดินทางในประเทศที่ผ่อนคลายกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีบริการขนส่งร้อยละ 20.7 โดย (1) ดัชนีบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 66.7 ในไตรมาสก่อนหน้า (2) ดัชนีบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และ (3) ดัชนีบริการขนส่ง
ทางน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 และบริการไปรษณีย์ขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์สูงร้อยละ 23.2 รวมครึ่งแรกของปี 2564 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 21.6 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับกิจกรรมการผลิตทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.9 สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 7.0 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซ รวมครึ่งแรกของปี 2564 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ ลดลงร้อยละ 4.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.3 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (16.4 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 2.47 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,825,097.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.1 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564
เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 – 1.2 ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 1.5 – 2.5 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญๆ ประกอบด้วย (1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (2) ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ (3) ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ (4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ยังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ (3) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ (4) ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 16.3 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.7 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.0 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.0 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศที่ยังคงมีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในปี 2563 และเป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 5.1 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับปรับโครงสร้างการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ ซึ่งทำให้สัดส่วนของรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงจากสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
- การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.8 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.4 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63.9 เทียบกับร้อยละ 55.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.7 เป็นการปรับลดจากร้อยละ 9.3 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายจริงในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2564 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่
- คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 10.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 13.3 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 7.3
ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก อย่างไรก็ตาม การปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลให้คาดว่าการส่งออกบริการจะอยู่ในระดับต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกสินค้า ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการรวมขยายตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในการประมาณการครั้งก่อน และการลดลงร้อยละ 19.4 ในปี 2563
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2564
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดย (i) การเพิ่มประสิทธิผลในการลดการแพร่เชื้อในครัวเรือน ชุมชน และกลุ่มแรงงาน (ii) การจัดลำดับความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยตามอาการเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (iii) การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้น และ (iv) การเร่งรัดจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง (2) การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจในช่วงที่การระบาดของโรคมีความรุนแรงและมีการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด โดย (i) การเร่งรัดติดตามมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (ii) การพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่
และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และ (iii) มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในลักษณะเฉพาะเจาะจงให้กับผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรง (3) การดำเนินมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดผ่อนคลายลง โดยให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ การจัดพื้นที่สำหรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันการกลับมาระบาดของโรค การแก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ (4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าโดย (i) การควบคุมการแพร่ระบาดในฐานการผลิตที่สำคัญ (ii) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการขนส่งสินค้า (iii) การแก้ไขปัญหาการขาดแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต (iv) การขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (v) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และ (vi) การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาและเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ (5) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อแนวทางการควบคุมการระบาดภายในประเทศ (ii) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง (iii) การแก้ไขปัญหา
ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ (iv) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุน (v) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และ (vi) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ
(7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ