คณิศ แจงปม โครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี
คณิศ แจง โครงสร้างพื้นฐานโครงการอีอีซี เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนผังเมือง คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปี พร้อมยืนยัน พรบ.อีอีซี ไม่เคยระบุ ให้นักลงทุนเช่าที่ดินได้นาน ถึง 99 ปี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงการอีอีซี และชี้แจงถึงประเด็นมีการกล่าวหาว่า อีอีซีขายชาติ ผ่านทางเฟซบุ๊ค ว่า ปัจจุบันการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการอีอีซีมีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้มีการออกร่างขอบเขตการประมูลหรือ ทีโออาร์แล้ว คาดว่าในปีนี้จะได้รายชื่อผู้ร่วมลงทุน การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าทีโออาร์จะออกได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ เช่นเดียวกับท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดที่จะออกทีโออาร์ได้ในเดือนตุลาคม นี้เช่นกัน
ขณะเดียวกันตามที่นายกรัฐมนตรีได้นำคณะไทยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนในอีอีซีนั้น ยังทำให้ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีอย่างมาก สะท้อนได้จากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวถึงร้อยละ 122 เชื่อว่าจะเห็นการลงทุนจริงถึงร้อยละ60 ในปีหน้า
ส่วนที่มีประเด็นข้อกังขาถึงการทำงานของสำนักงานอีอีซีนั้น อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าเรื่องการพัฒนาทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะที่มีประเด็นว่าโครงการอีอีซีเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติมากนั้น อยากให้ทุกคนยอมรับว่าการลงทุนในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีน้อยมาก ทำให้รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างส่งเสริมการลงทุน สร้างกลไกลใหม่ที่เป็นกองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อทำให้สิทธิประโยชน์มีความสมัยใหม่มากขึ้น ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นั้น
นายคณิศ ยืนยันว่า ตามพรบ.อีอีซีไม่เคยมีการระบุให้นักลงทุนเช่าที่ดินได้นาน 99 ปี แต่ระบุชัดเจนว่า การให้ต่างชาติเช่าที่ดินนั้น จะไม่เกินการให้เช่าที่ดินตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมปี2542 ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันที่ให้เช่า 50 ปี ขยายได้อีกไม่เกิน 50 ปี ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลก่อนต่อสัญญา ขณะที่การพัฒนาผังเมืองก็จัดทำเป็นรูปแบบมากขึ้น ล่าสุด คณะกรรมมการนโยบายอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติแผนภาพรวมไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างกระบวนการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันจัดทำผังเมืองอีอีซี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 1 ปี อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก จะเป็นพื้นที่นำร้องก่อนขยายความสำเร็จไปสู่การพัฒนาพื้นที่อื่นเร็วๆ นี้ เช่นภาคใต้ ภาคอีสานและภาคเหนือต่อไป.