ผนึก 3 มืออาชีพสร้าง CHULA CARE
รพ.จุฬาลงกรณ์ผนึกกสิกรไทยและเมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัวโครงการ CHULA CARE พัฒนาเทคโนโลยีหนุนงานบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ หวังยกระดับบริการผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรของโรงพยาบาล เชื่อสร้างคุณภาพบริการขึ้นชั้นแนวหน้าของภูมิภาค เผยตั้งเป้าลดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาวันละ 5,000 คน ลง 30% ภายใน 3 ปี
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือกับกสิกรไทยและบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ระหว่างเปิดตัวโครงการ CHULA CARE ว่า เป็นการนำเทคโนโลยีที่ 2 องค์กรมีความรู้และประสบการณ์มาช่วยยกระดับการให้บริการระบบการบริหารจัดการผู้ป่วย พัฒนาแผนที่และการนำทาง ส่งเสริมข้อมูลด้านสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงการรักษาทางไกล โดยการรักษาทางไกลนี้จะเริ่มให้บริการผู้ป่วยคลินิกระบบประสาท (Tele Neurology Clinic) ก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในระบบประสาท และไม่สะดวกเข้ามาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำผู้ป่วยเดินทางมาพบแพทย์ และลดระยะเวลาการรอคอยการพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
“ทุกวันนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลฯมากถึงวันละ 5,000 คนหรือราว 1.6 ล้านคนต่อปี หากแอพพลิเคชั่น CHULA CARE สามารถเปิดให้ดาวน์โหลดได้ในเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริการใหม่คือ เลเทคลนิก รวมถึงดีต่อผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายจะลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเดินทางมากยังโรงพยาบาลฯให้ได้ 30% ภายใน 3 ปีจากนี้” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ ย้ำ
ด้าน น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารฯสนับสนุนการพัฒนา Hardwareและหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพัฒนาระบบเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ ตั้งแต่ 1.การพัฒนาแอปพลิเคชัน CHULA CARE ที่จะช่วยให้โรงพยาบาลบริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอาทิ การแจ้งเตือนวันและคิวพบแพทย์ การแจ้งผลการตรวจสอบสิทธิ์ในการรักษา (เช่น ประกันสังคม, ประกันสุขภาพถ้วนหน้า) การแจ้งสถานะใบนำทาง การชำระเงินผ่าน K PLUS และ Mobile Banking ของทุกธนาคาร แผนที่และการนำทางแบบ Indoor Navigate นอกจากนี้ ยังสนับสนุนตู้ Self-service Kiosk เพื่อความสะดวกในการชำระเงินแก่ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนอีกด้วย
2.การสร้าง Data Hub พัฒนาระบบศูนย์รวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถให้โรงพยาบาลนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยธนาคารฯ จะจัดเตรียมระบบคลังข้อมูลพร้อมใช้ รวมทั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้กับทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อนำไปวิเคราะห์ได้ตามความต้องการของโรงพยาบาล ทั้งนี้ ข้อมูลทุกอย่างยังเป็นสิทธิของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3.การพัฒนาระบบ Tele Medicine เป็นการใช้ความก้าวหน้าทางการสื่อสารโทรคมนาคมมาประยุกต์ใช้กับการบริการทางการแพทย์ โดยส่งสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงผ่านสื่อ ควบคู่กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้ทันที ซึ่งประกอบด้วยการแบ่งปันความรู้ในการรักษาระหว่างแพทย์หรือการหารือเคส (Tele Conference) การรักษาทางไกล (Tele Clinic) และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Health Care)
และ 4.การพัฒนาระบบงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR) และ Staff Mobile Application เพื่อรองรับการดูแลบุคลากรของโรงพยาบาลให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี เชื่อมโยงการจ่ายค่าตอบแทน และการพัฒนาบุคลากร
ขณะที่นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทฯมีส่วนร่วมเตรียมความพร้อมและสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในยุคที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยได้พัฒนาเทคโนโลยีและการบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับบริการ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในผู้สูงอายุ (Health Promotion and Prevention Program) ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยการติดตาม (Monitor) ข้อมูลด้านสุขภาพทั้งจากโรงพยาบาลและที่บ้าน เพื่อให้ทีมแพทย์พยาบาลนำมาวิเคราะห์และจัดโปรแกรมการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยให้อย่างเหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน
2.พัฒนาช่องทางการเข้าถึงสื่อการสอนและการสอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติ หรือที่ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) สามารถเข้าถึงสื่อการสอน และการสอบในหลักสูตรต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะอยู่ในระบบ Digital Platform ทั้งหมด เพื่อให้ข้อมูลความรู้ถูกนำมาใช้ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.การขยายความคุ้มครองสำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพ ประเภทผู้ป่วยนอก (OPD) กับบริษัทฯ ให้ครอบคลุมการรักษาผ่าน Tele Clinic และสามารถดำเนินการเคลมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน CHULA CARE ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จากที่บ้านได้เลย นอกจากนี้ ทางบมจ. เมืองไทยประกันชีวิต ยังให้การสนับสนุนประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุ สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อีกด้วย.