“อาคม” หนุนใช้จิดิทัลทำงาน – ตั้ง 5 โจทย์ให้ ก.ล.ต.รับไปทำ
“รมต.โพเดียม” หนุนทุกภาคส่วน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพทำงานเทียบสากล ก่อนตั้ง 5 โจทย์ มอบ ก.ล.ต.รับไปดำเนินการด่วน! ชี้ ทั้งแบงก์ชาติและก.ล.ต.ต้องเร่งสร้างเกราะรับกระแสการลงทุนในเงินดิจิทัล
ถูกขนานนามจาก ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง ว่าเป็น “รมต.โพเดียม” ไปแล้ว สำหรับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง หลังจากพยายามไม่ออกงานและพบปะผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลังมากนัก
ยกเว้น! เฉพาะกิจกรรมที่ องค์กรสื่อหรือหน่วยงานรัฐ จัดงานในวาระพิเศษและเชิญให้ นายอาคม ไปร่วมงานฯและกล่าวปาฐกถาในงานนั้นๆ
ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง ถึงจะมีโอกาสได้พบเจอ รมต.เจ้ากระทรวงฯ เสียทีหนึ่ง…
ล่าสุด นายอาคม เป็นประธานเปิดงาน…พลิกโฉมตลาดทุนไทย ไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล พร้อมเปิดตัว Digital Infrastructure ภายใต้ Sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล” ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบ็งคอก เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มีนาคม 2564
ตอนหนึ่ง เขาระบุว่า…การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กลายเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว และนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยนำเครื่องมือการทำงานเหล่านี้ไปเพิ่มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับกับภาครัฐ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างให้ทันสมัย มีการออกหนังสือรับรองทางอิเล็กทรอนิสก์ การออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการ
สำหรับตลาดทุน ยิ่งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้มากยิ่งขึ้น และต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับการให้บริการที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไทยถูกมองว่าเป็นชาติลำดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และสวิสเซอร์แลนด์ ที่ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการขับเคลื่อนตลาดทุน เช่นเดียวกับ ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการลงทุน รองรับตลาดเงินดิจิทัล
ทั้งนี้ รมว.คลัง ได้ฝาก 5 โจทย์สำคัญไปยัง ก.ล.ต. ประกอบด้วย 1.การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหาโควิด-19ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2.การสร้างความเข้าถึงตลาดทุนทั้งการลงทุนและการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของประเทศ 3.การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุน 4.การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล (ESG) และ 5.การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในมิติการพัฒนา และกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือ กฎเหล็ก ให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง ครอบคลุมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (CyberSecurity) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล.