กสิกรฯ นำ QR Code ชำระค่าเรือโดยสาร

กสิกรไทยจับมือกรมเจ้าท่าและเรือด่วนเจ้าพระยา คิ๊กออฟนำ QR Code มาใช้เป็นทางเลือกในการชะรำค่าโดยสารทางเรือ จ้องเพิ่มโปรส่วนลดผ่านแอพฯ K PLUS หวังกระตุ้นการใช้โต 30% พร้อม เจรจา BTS และ MRT จ่ายด้วย QR Code ด้านอธิบดีกรมเจ้าท่าเล็งขยายเพิ่มสายการเดินเรือรับแผนสังคมไร้เงินสด
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างธนาคารฯ กรมเจ้าท่า และบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ในการนำระบบ QR Code มาใช้เป็นทางเลือกในการชะรำค่าโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยา ว่า หลังจากทดลองให้มีการชำระผ่านช่องทางนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่การตอบรับจากูผู้โดยสารยังมีน้อยมาก แม้ธนาคารฯจะจัดโปรโมชั่นส่วนลด 2 บาทต่อเที่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดังนั้นมีอาจพิจารณาปรับเพิ่มส่วนลดเป็น 3 บาทหรือมากกว่านั้นในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ธนาคารฯคาดหวังจะกระตุ้นการใช้ QR Code ให้ได้ 30% ของปริมาณการชำระค่าโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยา
“เรากำหนดเป้าหมายพัฒนาบริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยอำนวยความสะดวกให้มีการจับจ่ายในทุกโอกาสทั้งในร้านอาหาร ช้อปปิ้ง เดินทางท่องเที่ยว เพื่อให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มที่คนไทยจะเริ่มคุ้นชินในการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากขึ้นเรื่อยๆ” นายพชร กล่าวและว่า นอกจากการชำระเงินในระบบ QR Code ผ่านแอพพลิเคชั่นK PLUS กับรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถไฟ เครื่องบิน และเรือโดยสารแล้ว ขณะนี้ ธนาคารฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับรถไฟฟ้า BTS และ MRT เพื่อนำระบบ QR Code มาใข้ในอนาคต
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมฯ เฝ้าดูพฤติกรรมคนไทยเห็นแนวโน้มการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ด้วยระบบ QR Code จึงเชิญตัวแทนบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยาฯ มาหารือถึงความเป็นไปได้ในการชำระค่าโดยสารด้วยระบบนี้ ซึ่งไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร หากยังสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการสร้างสังคมไร้เงินสดของรัฐบาลอีกด้วย
“แต่ละวันจะมีประชาชนใช้บริการเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟากมากกว่า 150,000 คนต่อวัน หรือมากกว่า 18 ล้านคนต่อปี ถือได้ว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่นิยมและมีความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในอนาคตกรมฯจะมีแผนการขยายการรับชำระค่าโดยสารผ่านระบบคิวอาร์โค้ดกับเรือข้ามฟาก และเรือคลองแสนแสบเนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว และทันสมัย” อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าว
ขณะที่ นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยากล่าวว่าบริษัทฯ คาดการณ์จะเห็นการชำระค่าบัตรโดยสารด้วย QR Code ราว 30% หรือประมาณ 7,000 – 10,000คนต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารกว่า 35,000 คนต่อวัน บนเส้นทางเดินเรือที่มีกว่า 40 ท่า โดยเบื้องจะเปิดให้บริการนำร่องใน 3 ท่าเรือหลักที่มีผู้ใช้บริการสูงที่สุด คือ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือพรานนก และท่าเรือสาทร ในประเภทเรือด่วนโดยสารพิเศษ ธงส้มและธงเหลือง โดยมีแผนขยายการให้บริการด้วยคิวอาร์โค้ดให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งกับเรือโดยสารประเภทอื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มจำนวนท่าเรือที่รองรับคิวอาร์โค้ดเพื่อเร่งผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มตัว
“เชื่อว่าจากจุดเริ่มต้นนี้จะต่อยอดให้เกิดการเชื่อมโยงกับบัตรขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เช่น บัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทด้านการขนส่งสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกด้วย พร้อม ๆ ไปกับแผนการพัฒนาการให้บริการเรือโดยสาร โดยล่าสุดมีแผนพัฒนาเรือโดยสารรูปแบบใหม่ ประเภทเรือ Catamaran ลำตัวคู่ที่มีความสะดวกสบาย ความปลอดภัยสูง รองรับการให้บริการที่เชื่อมต่อกับการเปิดใช้ระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่กำลังจะเปิดใช้ในปี 2562 นี้” นางสุภาพรรณกล่าวสรุป.